นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริการ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้าหมายในช่วง 5 ปี (ปี 61-65) ขึ้นเป็นธนาคารขนาดกลาง จากปัจจุบันเป็นธนาคารขนาดเล็ก โดยการขึ้นเป็นธนาคารขนาดกลางนั้นธนาคารจะต้องมีกำไรก่อนหักสำรองฯและภาษีอยู่ในช่วง 1.2-1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นระดับกำไรก่อนหักสำรองฯและภาษีของธนาคารขนาดกลางทั้ง 3 รายในระดับ ซึ่งธนาคารจะต้องมีการผลักดันระดับกำไรก่อนหักสำรองฯและภาษีเพิ่มขึ้นไปที่ระดับดังกล่าวในช่วง 5 ปีนี้ ซึ่งกลยุทธ์ของธนาคารจะต้องหาช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น และสร้างการขยายตัวทางด้านสินเชื่อ ซึ่งคาดว่าในระยะต่อไปจะเห็นการขยายตัวของสินเชื่อเพิ่มขึ้น ตามแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้น และมีการลงทุนต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยที่ผ่านมาธนาคารเคยทำกำไรก่อนหักสำรองฯและภาษีสูงสุดอยู่ที่ 2 พันล้านบาท
ด้านแผนการดำเนินงานในปี 61 ตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 5% สูงขึ้นจากปีก่อนที่โต 3.2% ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ใกล้เคียงกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ที่ธนาคารคาดว่าจะเติบโต 4% ในปี 61 ซึ่งมองว่าในปีนี้ธุรกิจธนาคารพาณิชย์จะเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน จากอานิสงส์การเติบโตของภาคการส่งออกที่จะเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน และเติบโตในอุตสาหกรรมหลัก ๆ แบบกระจายตัว ไม่ใช่เป็นเพียงการเติบโตในอุตสาหกรรมดังเดิมแบบกระจุกตัว เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสะท้อนดีมานด์ของโลกที่ปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีการส่งออกมีปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น เป็นสัญญาณบวกที่บ่งบอกว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น
"แม้ว่าจะมีความกังวลว่าเศรษฐกิจอาจปรับตัวดีขึ้นเฉพาะในบริษัทขนาดใหญ่ไม่กี่แห่ง แต่การที่บริษัทขนาดใหญ่เริ่มระบายสต็อกสินค้าได้ เริ่มกลับมาขยายกำลังการผลิต สุดท้ายจะเกิดการจ้างงาน และเงินจะไหลเวียนเข้าสู่ระบบและส่งถึงประชาชนคนทั่วไป ซึ่งทำให้ภาพรวมในปี 61 เป็นบวกมากขึ้น แม้จะไม่ได้ดีขึ้นแบบทันทีทันใด แต่น่าจะดีขึ้นเป็นลำดับ"นายกิตติพันธ์ กล่าว
ขณะเดียวกันธนาคารได้รับปัจจัยหนุนจากการเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ในอาเซียนทั้งหมด 10 ประเทศ ซึ่งได้มีการแนะนำและสนับสนุนภาคธุรกิจในไทยและต่างประเทศขยายการลงทุนในต่างประเทศและในไทย ซึ่งทำให้ธนาคารสามารถต่อยอดการบริการต่าง ๆ ให้กับลูกค้าได้ ทั้งการสนทบสนุนด้านสินเชื่อและการบริการต่าง ๆ ทำให้เป็นผลบวกต่อการขยายตัวของสินเชื่อ และเพิ่มรายได้ ในส่วนของอัตาส่วนต่างกำไรและดอกเบี้ย (NIM) ในปี 61 ธนาคารตั้งเป้าอยู่ที่ 3.8% ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 3.89% โดยปัจจุบันธนาคารมองว่าระดับ NIM มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นได้ยาก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และมีการแข่งขันด้านดอกเบี้ยของธุรกิจธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันที่สูง ทำให้การเพิ่ม NIM จะยังทำได้ค่อนข้างยาก แต่การเพิ่มกำไรของธนาคารจะหันไปมองถึงการลดอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ต่อรายได้รวม (Cost to Income Ratio) ให้ลดลงเหลือ 50% ในช่วง 2-3 ปีนี้ จากปีก่อนอยู่ที่ 56% เพื่อทำให้มีกำไรที่เพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธนาคารจะมุ่งมั่นในการผลักดันผลการดำเนินงานของบริษัทให้มีการเติบโต แต่ปัจจัยที่ยังคงกดดัน คือ การตั้งสำรองฯซึ่งในปีนี้ยังมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากธนาคารมีความต้องการเพิ่มอัตราส่วนการตั้งสำรองฯต่อหนี้สูญ (Coverage Ratio) ให้เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 100% ในปีนี้ จากสิ้นปีก่อนที่ 93.2% เพื่อทำให้ธนคารมีความแข็งแกร่งมากขึ้นและปรับเพิ่มขึ้นไปเข้าใกล้ค่าเฉลี่ยของระบบธนาคารพาณิชย์ที่ 140% ส่วนด้านคุณภาพหนี้ในปีนี้ธนาคารจะควบคุมระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้ต่ำกว่า 5% จากสิ้นปี 60 ที่ 4.8% โดยแนวโน้มของ NPL ในช่วงครึ่งปีแรกมองว่าอาจจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และจะเริ่มเห็นการทยอยปรับลดลงในช่วงตั้งแต่ไตรมาส 3/61 เป็นต้นไป โดยการควบคุม NPL ให้อยู่ในระดับไม่เกิน 5% นั้นนอกเหนือจากการปรับโครงสร้างหนี้ไห้ลูกค้าแล้ว อาจจะยังมีการตัดขายหนี้เสียออกไปบางส่วนจากปีก่อนที่ขายไป 2 ครั้ง มูลค่า 3.7 พันล้านบาท
สำหรับประเด็นการปิดสาขาธนาคารและการลดจำนวนพนักงานลงนั้น ทางธนาคารยังคงระดับสาขาไว้ที่กว่า 80 สาขา ซึ่งเป็นจำนวนสาขาที่เหมาะสม ซึ่งธนาคารได้มีการปิดสาขาไปจำนวนมากมาก่อนหน้านี้แล้ว ในส่วนของจำนวนพนักงานนั้นยังมีแนวโน้มที่จะต้องจ้างพนักงานเพิ่มขึ้น เพื่อส่งเสริมต่อการขยายการเติบโตของธนาคารที่จะก้าวขึ้นเป็นธนาคารขนาดกลางในช่วง 5 ปีนี้
สำหรับการที่เซเว่น-อีเลฟเว่น จะเข้ามาเป็น Banking Agent ในการให้บริการฝาก ถอน และโอนเงินนั้น นายกิตติพันธ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีในการเพิ่มช่องทางการทำธุรกรรมของลูกค้า ซึ่งก่อนหน้านี้ธนาคารมีการเปิดสาขาในเซเว่น-อีเลฟเว่นมาก่อน และธนาคารอยู่ระหว่างการหารือกับเซเว่น-อีเลฟเว่น เพื่อให้เป็น Banking Agent ให้แก่ธนาคารเพิ่มเติมจาก AIS ที่เป็น Banking Agent ให้กับธนาคารในปัจจุบัน
ส่วนความคืบหน้าของดีลการเสนอขายธนาคารอิสลามให้กับธนาคารพาณิชย์รายหนึ่ง ซึ่งธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ได้เป็นที่ปรึกษาให้กับธนาคารอิสลามนั้น ปัจจุบันมีความคืบหน้าของการเสนอขายไปค่อนข้างมากแล้ว และทางธนาคารอิสลามได้มีผู้สนใจซื้อที่ได้มีการเจรจากันแล้วเสร็จเรียบร้อยแล้ว คาดว่าดีลดังกล่าวจะได้ข้อสรุปออกมาในเร็ว ๆ นี้ โดยปัจจุบันธนาคารยังไม่สามารถให้รายละเอียดเกี่ยวกับดีลดังกล่าวได้มาก เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการประเมินมูลค่าสินทรัพย์และขั้นตอนการตกลงเงื่อนไขต่างๆ