นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย กรรมการผู้จัดการ บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 61 โตไม่ต่ำกว่า 15% จากปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 4.85 พันล้านบาท พร้อมตั้งเป้ารักษาอัตรากำไรขั้นให้ไม่ต่ำกว่า 30% โดยมาจากการที่มีจำนวนกำลังการผลิตที่เริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เข้ามาเพิ่มในปีนี้อีก 190 เมกะวัตต์
ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม จำนวน 2 โครงการ กำลังการผลิต 110 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าสราญรมย์วินด์ฟาร์ม กำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ คาดว่าจะ COD ได้ในวันที่ 23 มี.ค.60 และโครงการโรงไฟฟ้ามิตรภาพวินด์ฟาร์ม กำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ คาดว่าจะ COD ในวันที่ 1 มิ.ย. 60 รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น 2 โครงการ กำลังการผลิตรวม 78 เมกะวัตต์ คาดว่าจะ COD ในไตรมาส 4/61
ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าโรงไฟฟ้าพลังงานลมและโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าวจะสร้างรายได้ให้บริษัทราว 1.6 พันล้านบาทในปีนี้
ด้านธุรกิจรับเหมาก่อสร้างวางระบบและติดตั้ง (EPC) ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือ (Backlog) อยู่ที่ 700 ล้านบาท คาดว่าจะรับรู้เป็นรายได้ภายในปีนี้ทั้งหมด อีกทั้งบริษัทยังตั้งเป้ารับงานก่อสร้างติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อปจำนวน 70 เมกะวัตต์ภายในปีนี้ มูลค่า 2.45 พันล้านบาท โดยจะดำเนินการก่อสร้างและติดตั้งให้กับผู้ที่สนใจจะติดตั้ง รวมถึงบริษัทยังสนใจเข้าประมูลโครงการนำไฟฟ้าลงดินของการไฟฟ้าภูมิภาค (กฟภ.) มูลค่าราว 1.1 หมื่นล้านบาทใน 4 จังหวัดใหญ่
อย่างไรก็ตาม บริษัทจะพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง เพราะในปีนี้บริษัทยังคงมุ่งเน้นการขับเคลื่อนด้วยธุรกิจไฟฟ้าเป็นหลัก ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนลักษณะการเข้าประมูลงานโครงการนำไฟฟ้าลงดินช่วงปลายไตรมาส 2/61 และบริษัทจะเข้าประมูลโครงการงานก่อสร้างระบบสายไฟฟ้าใต้น้ำที่เกาะเต่าและเกาะสมุย มูลค่า 1.4 พันล้านบาท กับ 1.8 พันล้านบาท ภายในไตรมาส 2/61 และคาดว่าจะรู้ผลการประมูลงานได้ในภายในไตรมาส 3/61
ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าบริษัทยังคงเป้าหมายที่จะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ครบ 1,000 เมกะวัตต์ในปี 63 จากปัจจุบันมี PPA ในมือประมาณ 497 เมกะวัตต์ คาดว่าจะหา PPA อีก 503 เมกะวัตต์ได้ภายใน 3 ปีข้างหน้า ซึ่งปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาเข้าลงทุนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมทุกรูปแบบในมาเลเชีย เมียนมา เวียดนาม และญี่ปุ่น เบื้องต้นบริษัทประเมินว่าภายในปลายไตรมาส 1/61 จะสามารถสรุปพันธมิตรร่วมลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าฟลังงานลมกำลังการผลิตราว 50 เมกะวัตต์ในมาเลเซียได้ก่อน
บริษัทยังคาดว่าจะต้องใช้งบลงทุนอีก 6.4 พันล้านบาท ในการผลักดันให้เป็นไปตามเป้าหมายของบริษัทที่วางไว้ว่าจะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ครบ 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทมีเงินทุนรองรับที่เพียงพอโดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน เนื่องจากมีวงเงินหุ้นกู้ที่สามารออกมาเสนอขายได้อีก 3.5 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน