PTTEP เปิดตัวธุรกิจใหม่ปีนี้เสริม E&P ปรับองค์กรรับมือเทคโนโลยีเปลี่ยน, เล็งจับมือ GPSC ผลิตไฟฟ้าในเมียนมา

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 7, 2018 13:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปตท.สผ.อยู่ระหว่างศึกษาธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักคือสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจรองรับเทคโนโลยีพลังงานที่ปรับเปลี่ยนไป

บริษัทศึกษาทั้งธุรกิจต่อเนื่องด้านการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบธุรกิจปิโตรเลียม ,การผลิตไฟฟ้าในเมียนมา รวมถึงห่วงโซ่ธุรกิจด้านพลังงานทดแทน ทั้งแบตเตอรี่ และโซล่าร์ นอกเหนือจากปัจจุบันที่มีการต่อยอดไปในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แล้ว โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนอย่างน้อย 1 ธุรกิจในปีนี้ แต่ยังยืนยันว่าธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจะยังเป็นธุรกิจหลักของปตท.สผ.

"เราอยู่ในธุรกิจขุดเจาะสำรวจและผลิตมานานแล้วกว่า 30 ปี ตอนนี้มีธุรกิจใหม่ ๆ ที่เราจะต้องเริ่มดู...คิดว่าปีนี้อยากให้มีสักตุ๊กตาหนึ่งออกมา หลัก ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมองค์กรมากกว่า ไม่เช่นนั้นเราก็จะคิดแบบเดิม ๆ ทำแบบเดิม ๆ ไป Bid สัมปทาน แต่อย่าลืม Bid สัมปทานได้สัมปทานยังเป็น core ธุรกิจอยู่ แต่ต้องเปลี่ยนแล้ว 10-20 ปีเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง องค์กรจะได้เปลี่ยนทัน"นายสมพร กล่าว

นายสมพร กล่าวอีกว่า การศึกษาธุรกิจใหม่ดังกล่าวอยู่ในแผนกลุยทธ์ 3R ที่ได้กำหนดไว้เมื่อ 2 ปีก่อน ได้แก่ RESET ,REFOCUS และ RENEW โดยในส่วนของ RENEW ปัจจุบันมีความชัดเจนมากขึ้นในส่วนของงาน 2 ส่วน ได้แก่ Old Thing New Way ซึ่งเป็นการทำการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบใหม่ ซึ่งจะให้ความสำคัญกับดิจิทัลมากขึ้นทั้งในการสำรวจและการบำรุงรักษา ตลอดจนการซ่อมบำรุง ซึ่งจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพและช่วยลดต้นทุนรวม

ส่วนอีกแนวทางหนึ่ง คือ New Thing New Way ซึ่งจะเป็นการพิจารณาลงทุนธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ เช่น ธุรกิจด้านการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบธุรกิจปิโตรเลียม เนื่องจากบริษัทจะต้องรื้อถอนสิ่งติดตั้งบางส่วนในพื้นที่ปิโตรเลียมของบริษัทที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 65-66 อยู่แล้วทำให้เริ่มมองการลงทุนในธุรกิจนี้ ซึ่งอาจจะเข้าร่วมทุนกับผู้ที่มีความชำนาญและมีประสบการณ์ต่อไป

ธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งบริษัทไม่ได้มองการลงทุนในไทย เพราะยังมีการแข่งขันที่รุนแรง แต่มองเห็นโอกาสการต่อยอดธุรกิจจากแหล่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพื่อมุ่งสู่ธุรกิจไฟฟ้าในเมียนมาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น เบื้องต้นมองโอกาสในพื้นที่ปิโตรเลียม M3 ซึ่งเป็นแหล่งในทะเลที่ยังสำรวจพบปิโตรเลียมในปริมาณไม่มากนัก จึงได้แจ้งความประสงค์กับรัฐบาลเมียนมา เพื่อจะสำรวจเพิ่มเติมนำก๊าซฯมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า โดยจะร่วมกับบมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) เตรียมเสนอแพ็กเกจโครงการต่อรัฐบาลเมียนมา คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในช่วงครึ่งแรกปีนี้

"กรณีเมียนมาเรารู้แน่ ๆ ว่าต้องการใช้ไฟฟ้ามาก เขาชักชวนผู้ลงทุนไปเสนอโครงการเพื่อจะผลิตไฟฟ้า ซึ่งความต้องการใช้อยู่ที่ย่างกุ้ง วิธีไหนก็แล้วแต่จะเอา LNG เราก็มีความเป็นไปได้ในการนำเข้า และมีความเป็นไปได้ในบางพื้นที่สัมปทานของเราที่มีศักยภาพ แต่แทนที่เราจะขายก๊าซฯเราก็อาจจะพิจาณณาตัวเองว่าเราทำโรงไฟฟ้าขายดีไหม ซึ่งเรามองเป็นกลุ่ม เราคิดว่าเราน่าจะอยู่ในวิสัยเป็นผู้นำตรงนี้ได้ดี จากที่เราอยู่ในเมียนมามา 28 ปี...M3 อยู่ในวิสัยที่จะมาต่อยอดหรือเป็นส่วนหนึ่งมากกว่า คือที่บอกปริมาณสำรองน้อยไปหน่อย ถ้าไม่ทำอะไรก็เสียประโยชน์ เรามีท่อพาดผ่านแล้ว อย่างน้อยทำอะไรได้ไหมก็คิดอยู่ ต้องดูว่ามีแนวคิดแนวอ่านอะไรในการที่จะทำแพ็กเกจเพื่อให้ข้อเสนอเราเป็นที่น่าสนใจ"นายสมพร กล่าว

นายสมพร กล่าวว่า สำหรับธุรกิจใหม่บริษัทยังให้ความสนใจธุรกิจที่เป็นห่วงโซ่ (Value Chain) เกี่ยวข้องกับพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีห่วงโซ่ค่อนข้างยาวเริ่มตั้งแต่แบตเตอรี่ ,แหล่งแร่ ,การซ่อมบำรุง ,การติดตั้งในรูปแบบโซลาร์ฟาร์ม ก็จะมองหาโอกาสเข้าไปลงทุนในห่วงโซ่ดังกล่าวซึ่งอาจจะเป็นธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าเพิ่มได้มากน้อยแค่ไหน และจะมีความคุ้มค่าเพียงใด ขณะที่ในส่วนของห่วงโซ่ธุรกิจก๊าซฯ ก็ได้เริ่มแล้วในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ได้ร่วมมือกับปตท. เข้าไปลงทุน 10% ในโรงงานผลิต LNG ในมาเลเซีย

ด้านกลยุทธ์ RESET บริษัทได้ปรับวิธีการทำงานเพื่อลดต้นทุนต่อหน่วย (unit cost) ลงมาอยู่ในระดับฐานใหม่ที่ราว 30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพื่อให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับไม่สูงมาก และกลยุทธ์ REFOCUS เน้นขยายการลงทุนและเติบโตในพื้นที่ที่มีความเชี่ยวชาญและพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง โดยล่าสุดได้เข้าไปร่วมลงทุนพัฒนาแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมในบราซิลและเม็กซิโก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง ขณะเดียวกันก็เริ่มเพิ่มงบประมาณการสำรวจปิโตรเลียมมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการค้นพบแหล่งใหม่ ๆ จากที่ได้ชะลองบประมาณสำหรับการสำรวจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่สถานการณ์ราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ โดยปีนี้ตั้งงบประมาณสำรวจไว้ราว 200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อรองรับการขุดเจาะหลุมในเมียนมา และในไทย

นายสมพร กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าการทบทวนโครงการลงทุนสำคัญในต่างประเทศ 5 แห่งเพื่อหาแนวทางบริหารจัดการที่ดีที่สุดกับบริษัท โดยในส่วนของโครงการ M3 ในเมียนมา มีแผนที่จะนำมาก๊าซฯมาพัฒนารองรับการผลิตไฟฟ้าป้อนให้กับเมียนมา ขณะที่โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน และ โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ อยู่ระหว่างการผลักดันให้เกิดการตัดสินใจในการลงทุนต่อไป

อย่างไรก็ตาม มีส่วนโครงการที่ต้องทบทวน ได้แก่ โครงการมาเรียนา ออยล์ แซนด์ ในแคนาดา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันในแคนาดา ที่ผ่านมาบริษัทได้ตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ในช่วงไตรมาส 3/60 และแม้สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะปรับขึ้นมา แต่ราคาน้ำมันในพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะเป็นน้ำมันที่มีความหนืด ประกอบกับ ในพื้นที่ดังกล่าวก็ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดพัฒนาแหล่งออยล์ แซนด์ใหม่ ๆ ขึ้นมา ทำให้บริษัทพิจารณาความเป็นไปได้ของการลดสัดส่วน หรือขายสัดส่วนจากปัจจุบันที่ถืออยู่ 100% โดยจะเสนอขายให้กับผู้ที่ดำเนินการอื่น ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งจะมีความสามารถในการพัฒนาโครงการได้มากกว่าบริษัท ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มออกไปมองหาความสนใจในตลาดบ้างแล้ว

ส่วนโครงการแคช เมเปิ้ล ในออสเตรเลีย ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาทางเลือกต่าง ๆ เพื่อเปิดโอกาสในการพัฒนาโครงการ โดยมองหาพันธมิตรเข้ามาร่วมดำเนินการ จากปัจจุบันที่ถือหุ้นอยู่ 100% เนื่องจากเห็นว่าแหล่งดังกล่าวเป็นแหล่งก๊าซฯขนาดใหญ่ 3-4 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต (TCF) แต่อยู่ในพื้นที่ที่ไกลจากตลาดที่อยู่ทางตะวันออก ส่วนแหล่งผลิตจะอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ทำให้การผลิตก๊าซฯจากแหล่งดังกล่าวอยู่ในรูปแบบของ LNG ซึ่งต้องเชื่อมโยงกับโรงงานผลิต LNG ในบริเวณใกล้เคียงซึ่งก็ยังมีคิวที่รอการนำก๊าซฯเข้าโรงงานผลิต LNG จำนวนมาก ทำให้การพัฒนายังไม่ได้เกิดขึ้นในเร็ววัน

"ตอนนี้มี 2-3 option ที่จะเปิดโอกาสให้เราพัฒนาแหล่งแคช เมเปิ้ลได้ ก็ดูว่า option ไหนทำได้ดีและมีความเป็นไปได้สูงสุด ตอนนี้เรามองว่าจะหาพันธมิตรน่าจะเป็นประโยชน์ เพื่อมาร่วมพัฒนาแหล่งแคช เมเปิ้ลได้ดี เรากำลังทำการเปรียบเทียบอยู่"นายสมพร กล่าว

นายสมพร กล่าวถึงแหล่งน้ำมันดิบมอนทาราในออสเตรเลียด้วยว่า ปัจจุบันกำลังการผลิตเริ่มลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะมีการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งนี้ราว 1 หมื่นบาร์เรล/วัน หลังจากที่ได้ขุดหลุมผลิตใหม่เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งบริษัทก็ยังเปิดโอกาสในการมองหารายใหม่เพื่อเข้ามาซื้อโครงการเพราะยังเชื่อว่าคนในพื้นที่น่าจะสามารถพัฒนาแหล่งน้ำมันนี้ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าได้

ส่วนโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติจากโครงการเซาท์เวสต์เวียดนาม หรือโครงการบล๊อก B ในเวียดนามที่บริษัทถือหุ้นในสัดส่วนราว 7-8% นั้น น่าจะสามารถตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision :FID) ได้ในปี 61 ส่วนในอนาคตจะมีการพัฒนาแหล่งก๊าซฯนี้เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าหรือไม่นั้น ทางบริษัทก็อยู่ระหว่างเก็บข้อมูล แต่การดำเนินการจะขอเริ่มที่เมียนมาก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ