นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยว่า ในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าขยายพอร์ตสินเชื่อสำหรับลูกค้า SME ขนาดกลางและขนาดเล็กเติบโต 8% หรือเพิ่มขึ้นราว 7-8 หมื่นล้านบาท จากพอร์ตสินเชื่อ SME ณ สิ้นปี 60 ที่ 1.71 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ กลยุทธ์กลุ่มงานลูกค้าธุรกิจ SME ปี 61 จะเป็นการตอกย้ำเป้าหมายการเป็นธนาคารหลักสำหรับลูกค้าธุรกิจ SME โดยการผสานความแข็งแกร่งกับเครือข่ายระดับโลกของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) ที่มีลูกค้าอยู่ทั่วโลก ช่วยต่อยอดการให้บริการซัพพลายเชนได้อย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำและปลายน้ำและขยายไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านการค้าต่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัลและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการลูกค้าของธนาคาร
"ปีนี้ที่ตั้งเป้าสินเชื่อ SME โต 8% เพราะเป็นการโตจากฐานที่สูงในปีก่อน 11.8% ซึ่งยังมองว่ากลุ่มลูกค้า SME ในปีนี้มีแนวดีขึ้นซึ่งเป็นไปตามการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย และการลงทุนต่างๆที่เริ่มมีมากขึ้น"นายสยาม กล่าว
ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ สินเชื่อ SME ของกรุงศรีเติบโตตามเป้าหมาย แต่โดยปกติความต่องการใช้สินเชื่อในกลุ่ม SME จะสูงมากไนช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงที่จะมีการขอสินเชื่อรองรับการลงทุนในปีต่อไป โดยปัจจุบันลูกค้า SME ของธนาคารแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ SME S ที่มียอดขายต่ำกว่า 150 ล้านบาท/ปี และ SME M ที่มียอดขายตั้งแต่ 150-1,000 ล้านบาท/ปี
นายสยาม กล่าวว่า ปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตของกลุ่มลูกค้าธุรกิจ SME ในปี 61 ธนาคารยังคงมุ่งใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งของกลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่น (JPC/MNC) และเครือข่าย MUFG เพื่อต่อยอดการให้บริการและขยายฐานลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินเพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคและธุรกิจสู่เทคโนโลยีดิจิทัล และยุคสังคมไร้เงินสด อีกทั้งให้บริการที่ครอบคลุมและตอบสนองความต้องการของธุรกิจ SME ได้ดียิ่งขึ้น
พร้อมชูศักยภาพเครือข่าย MUFG ธนาคารได้ออกแคมเปญ SME Export 3+2 สำหรับผู้ส่งออกไทยที่มีคู่ค้าต่างประเทศที่เป็นลูกค้าของ MUFG และเลือกใช้กรุงศรีเป็นธนาคารหลักในการรับเงินโอนค่าสินค้าจากคู่ค้า จะได้รับวงเงินสินเชื่อเพื่อการค้าต่างประเทศ ตลอดจนสิทธิพิเศษ ฟรีค่าธรรมเนียมเงินโอนขาเข้าและบริการจัดส่งเอกสารส่งออก
นอกจากนี้ในด้านดิจิทัลและนวัตกรรม ธนาคารยังได้สนับสนุนผู้ประกอบการไทย ด้วยการนำเสนอเทคโนโลยีการเงินรูปแบบใหม่ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ความคล่องตัวและลดต้นทุน อย่างเช่น บริการโอนเงินแบบเรียลไทม์ด้วยเทคโนโลยี Blockchain’s Interledger ที่ลดระยะเวลาการโอนเงินระหว่างประเทศเป็นวินาทีจากเดิมเป็นวัน
และในเร็วๆ นี้ ธนาคารจะสามารถให้บริการลูกค้าในการขอเบิกใช้วงเงินกู้หมุนเวียนแบบเรียลไทม์ (Electronic Notice of Drawdown) ที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถส่งคำขอเบิกสินเชื่อผ่านมือถือและรับเงินเข้าบัญชีได้ทันที
"กรุงศรีมีแผนที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัล RM 4.0 เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า เพื่อช่วยให้ธนาคารเข้าใจความต้องการของลูกค้ามากขึ้น สามารถบริหารจัดการในการเข้าพบลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และติดตามการดำเนินงานได้ทุกที่ทุกเวลา"นายสยาม กล่าว
สำหรับสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของกลุ่มสินเชื่อ SME ของธนาคารในปี 61 จะควบคุมให้อยู่ที่ 4.2% ใกล้เคียงกับปีก่อน และต่ำกว่าระบบที่ 4.37% ซึ่งแนวโน้มของ NPL ในกลุ่มสินเชื่อ SME มีแนวโน้มคงที่มาตั้งแต่ปีก่อน โดยกลุ่มที่ยังคงมีความเสี่ยงในเรื่องคุณภาพหนี้ เช่น กลุ่มค้าส่งและค้าปลีก กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต กลุ่มดีลเลอร์รถยนต์ เป็นต้น ซึ่งธนาคารได้มีการให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าและการปรชบโครงสร้างหนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกค้าและไม่กระทบต่อการเพิ่มขึ้นของ NPL