(เพิ่มเติม) บอร์ด ก.ล.ต.วันนี้งดถกเกณฑ์คุม ICO รอร่างกม.สินทรัพย์ดิจิทัล, ผู้ว่า ธปท.แจงหลักการคุม Cryptocurrency

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 8, 2018 12:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ในวันนี้คณะกรรมการ ก.ล.ต. จะไม่มีการพิจารณาเรื่องการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล และไอซีโอ เนื่องจากผลจากการประชุมระหว่างรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ มีข้อสรุปให้มีการออกกฎหมายพิเศษขึ้นมาครอบคลุมดูแลในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล โดยจะมอบหมายให้ ก.ล.ต. เป็นผู้กำกับดูแล

ทั้งนี้ กฎหมายพิเศษที่จะออกนี้จะครอบคลุมการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลในทุกเรื่อง ทั้งไอซีโอ คริปโตเคอเรนซี รวมทั้งวางหลักเกณฑ์สำหรับผู้เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ที่จะระดมทุนผ่านไอซีโอ ตัวกลางและผู้ที่จะจัดทำแพลทฟอร์มตลาดรอง และคุณสมบัติผู้ลงทุน ซึ่งคณะกรรมการ ก.ล.ต. จะมีการประชุมเพื่อพิจารณารายละเอียดทั้งหมดอีกครั้งเมื่อมีการออกร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว โดยคาดว่าคงใช้เวลาไม่นานเนื่องจากรัฐบาลกำหนดให้เป็นเรื่องเร่งด่วน

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวยอมรับว่าการทำธุรกรรมเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล หรือ Cryptocurrency ในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่ถึงกับสร้างความกังวลความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน เพราะการทำธุรกรรมดังกล่าวยังอยู่ในวงจำกัดเป็นรายบุคคล ดังนั้น ทุกหน่วยงานจึงจำเป็นจะต้องใช้กฎหมายที่ตัวเองมีอยู่ในการต่อยอดเพื่อควบคุมดูแลการลงทุนใน Cryptocurrency ให้เหมาะสม

โดยที่ประชุมร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวานนี้ เป็นการหารือกันเพื่อเตรียมออกหลักเกณฑ์ใหม่ที่จะสามารถดูแลการลงทุนใน Cryptocurrency และทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับ Cryptocurrency ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อกฎหมายของ ก.ล.ต. โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

สำหรับกฎหมายที่จะออกมาควบคุม Cryptocurrency จะเน้นการดูแลการฟอกเงิน การชำระเงินที่ไม่ถูกต้อง การคุ้มครองผู้ลงทุน การดูแลกระบวนการซื้อขายเพื่อป้องกันการปั่นราคา รวมถึงการใช้เป็นช่องทางในการหลีกเลี่ยงภาษี และกำกับดูแลเพื่อไม่ให้มีการลงทุนในลักษณะแชร์ลูกโซ่ ยืนยันว่าทุกหน่วยงานมีการร่วมมือกันดำเนินการอย่างเต็มที่

นายวิรไท ยังกล่าวถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นว่า ดอกเบี้ยนโยบายของไทยต้องดูภาวะเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก ไม่ใช่ดอกเบี้ยสหรัฐขึ้นก็ต้องเร่งปรับขึ้นตาม เนื่องจากนโยบายการเงินต้องตอบโจทย์เศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีแรงกดดันเรื่องอัตราเงินเฟ้อ เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน แต่ก็ยังมีความเปราะบาง ดังนั้นนโยบายการเงินยังจำเป็นต้องอยู่ในระดับผ่อนคลาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ