นายปิยะ ยอดมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK)เปิดเผยว่า บริษัทเร่งดำเนินการเชิงรุกเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือของฝูงบินแบบบอมบาร์ดิเอร์ รุ่น Q400 ภายหลังจากเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นกับเครื่องยนต์แบบเทอร์โบพร๊อป ก่อนที่นักบินจะนำเครื่องลงจอดฉุกเฉินอย่างปลอดภัย
ทั้งนี้ นกแอร์ได้เร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพของฝูงบินแบบบอมบาร์ดิเอร์โดยร่วมมือกับบริษัท บอมบาร์ดิเอร์ แอโรสเปซ (Bombardier Aerospace) บริษัทในเครือบอมบาร์ดิเอร์ ผู้ผลิตเครื่องบินโดยสารรายใหญ่ในประเทศแคนาดา และบริษัท แพรทท์ แอนด์ วิทนีย์ แคนาดา (Pratt & Whitney Canada; PWC) ผู้ให้บริการด้านเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบิน จัดคณะทำงานชุดพิเศษสำหรับดำเนินงานตรวจสอบเครื่องบินและวางแผนการทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเครื่องบินจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
"นกแอร์ ก้าวข้ามไปอีกขั้น ในการมอบความอุ่นใจในการเดินทาง ไม่เพียงแค่สำหรับพวกเราเท่านั้นที่ต้องการให้ทุกการเดินทางของผู้โดยสารมีความปลอดภัยมากที่สุด แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือผู้โดยสารของเราต้องได้รับและสัมผัสถึงความอุ่นใจและปลอดภัยในการเดินทางด้วย"นายปิยะ กล่าว
ด้านนายโทดด์ ยัง รองประธานและผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายบริการลูกค้าและโครงการ Q400 บริษัท บอมบาร์ดิเอร์ คอมเมอร์เชียล แอร์คราฟท์ (Bombardier Commercial Aircraft) กล่าวว่า นกแอร์เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการการบินด้วยที่ใช้เครื่องบินแบบเทอร์โบพร๊อป แบบ 86 ที่นั่ง รุ่น Q400 ที่มีอายุการใช้งานน้อยที่สุดในโลก และสามารถใช้งานเครื่องบินได้อย่างเต็มประสิทธิภาพตามแผนตารางการบินกว่าร้อยละ 99.5 นับตั้งแต่ที่สายการบินเริ่มนำเครื่องบินรุ่นนี้มาให้บริการเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2557
"บอมบาร์ดิเอร์จะให้การสนับสนุนนกแอร์อย่างเต็มที่ ในการดำเนินการปรับปรุงแผนการซ่อมบำรุงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น" นายโทดด์ ยัง กล่าวเสริม
ทั้งนี้ บอมบาร์ดิเอร์ จะจัดเตรียมหลักสูตรทบทวนการบำรุงรักษาเครื่องบินรุ่น Q400 ให้กับวิศวกรปฏิบัติการของสายการบินนกแอร์ จำนวน 16 คน โดยจะมีการฝึกทบทวนกันที่สำนักงานใหญ่ของบอมบาร์ดิเอร์ ณ ประเทศแคนาดา ภายในปลายปีนี้
ในส่วนของแพรทท์ แอนด์ วิทนีย์ แคนาดา รับปากจะสนับสนุนด้านเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ รุ่น PW150A ซึ่งนกแอร์ใช้ขับเคลื่อนฝูงบินบอมบาร์ดิเอร์ของสายการบินทั้ง 8 ลำ
นอกจากนั้นยังมีการหารือกับบอมบาร์ดิเอร์ เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการจัดหาเครื่องยนต์รุ่น PW150A ให้นกแอร์สำรองไว้สำหรับใช้ในกรณีที่จำเป็นต้องเปลี่ยนอะไหล่อย่างเร่งด่วน
ในขณะเดียวกันนกแอร์ได้ส่งเครื่องยนต์ที่ประสบเหตุในเที่ยวบิน DD9407 ซึ่งเกิดเหตุขัดข้องบริเวณเครื่องยนต์ ระหว่างเดินทางจากสกลนคร มายังกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ไปทำการซ่อมแซมที่โรงงานของบริษัท เวกเตอร์ แอโรสเปซ – เอเชีย (Vector Aerospace – Asia) ผู้ให้บริการชั้นนำในอุตสาหกรรมบำรุงรักษาและซ่อมแซมเครื่องยนต์ ที่ประเทศสิงคโปร์
นอกจากนี้เวกเตอร์ แอโรสเปซ – เอเชีย ยังได้รับมอบหมายจาก แพรทท์ แอนด์ วิทนีย์ แคนาดา ผู้ออกแบบเครื่องยนต์ ให้ทำการตรวจสอบเครื่องยนต์รุ่น PW150A ทุกเครื่อง ที่สายการบินนกแอร์ใช้งานอยู่อย่างละเอียด โดยใช้เทคนิคกล้องส่อง "บอร์สโคป" (Borescope)
สายการบินนกแอร์ เป็นสายการบินที่มีเครื่องบินแบบบอมบาร์ดิเอร์ รุ่น Q400 ให้บริการอยู่โดยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 3.5 ปี ซึ่งจัดได้ว่าเป็นสายการบินที่มีเครื่องบินอยู่ในสภาพใหม่ที่สุดสายการบินหนึ่งของโลก และในปี 2560 สายการบินนกแอร์ ยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะรางวัลสายการบินที่มีความน่าเชื่อถือ สำหรับเครื่องบินรุ่น Q400 ประจำปี 2559 จาก บริษัท บอมบาร์ดิเอร์ อีกด้วย