ทริส คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ของ บล.เคที ซีมิโก้ ที่ BBB+ แนวโน้ม stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 12, 2018 10:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บล.เคที ซีมิโก้ (KTZ) ที่ระดับ "BBB+" โดยอันดับเครดิตดังกล่าวได้รับการปรับเพิ่มขึ้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทในฐานะเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของธนาคารกรุงไทย (KTB) ซึ่งถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วน 50% ทั้งนี้ อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของบริษัท ตลอดจนการมีสถานภาพทางธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีนโดยผ่านการดำเนินงานของบริษัทหลักทรัพย์ในเครือ รวมถึงแหล่งรายได้ที่กระจายตัว และการสนับสนุนจากธนาคารกรุงไทยทั้งในด้านการดำเนินธุรกิจและด้านการเงิน

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังมีข้อจำกัดจากความสามารถในการทำกำไรที่อ่อนแอลง ฐานทุนที่ค่อนข้างตึงตัว และแรงกดดันด้านอัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ภายใต้การแข่งขันที่รุนแรง

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต ลบ.เคที ซีมิโก้ เป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของธนาคารกรุงไทย บล. เคที ซีมิโก้ ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของธนาคารกรุงไทยในการให้บริการเกี่ยวกับธุรกิจหลักทรัพย์แก่ลูกค้าของธนาคารและบริษัทได้ใช้ประโยชน์จากสาขาของธนาคารกรุงไทยในการขยายฐานลูกค้ารายย่อยมาโดยตลอด โดย 42% ของบัญชีที่เปิดใหม่ของบริษัทในปี 2560 เป็นลูกค้าที่ผ่านการแนะนำโดยธนาคารกรุงไทย เทียบกับในปี 2553 ซึ่งมีสัดส่วนไม่ถึง 10%

สำหรับบัญชีลูกค้าที่แนะนำโดยธนาคารกรุงไทยที่มีการเคลื่อนไหวบัญชีอยู่เป็นประจำก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 10% ในปี 2554 เป็น 24% ในปี 2560 นอกจากการสนับสนุนทางธุรกิจแล้ว ธนาคารกรุงไทยยังให้การสนับสนุนแก่บริษัทในด้านการเงินด้วย โดยประมาณ 68% ของวงเงินสินเชื่อทั้งหมดที่บริษัทมีเป็นวงเงินที่ได้รับจากธนาคารกรุงไทยซึ่งช่วยเสริมสภาพคล่องและทำให้มีเงินทุนเพียงพอในการขยายธุรกิจ อีกทั้งในปี 2560 บริษัทยังมีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการอยู่ที่ 175 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 14% จากปี 2559 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแนะนำลูกค้าจากธนาคารกรุงไทยด้วยเช่นกัน

แหล่งรายได้ที่กระจายตัวดี บริษัทมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการกระจายแหล่งที่มาของรายได้ ในปี 2560 รายได้ของบริษัทในสัดส่วน 58% มาจากรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วน 77% ในปี 2556 นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการคิดเป็น 12% ของรายได้รวมของบริษัทในปี 2560 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 8% ในปี 2559 การกระจายแหล่งรายได้เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากค่านายหน้าส่งผลให้บริษัทสามารถรับมือกับแรงกดดันด้านอัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ภายใต้การแข่งขันที่รุนแรงในตลาดจากการเปิดเสรีค่าธรรมเนียมการให้บริการตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 ได้ดียิ่งขึ้น การเพิ่มขึ้นของรายได้จากแหล่งอื่นๆทำให้บริษัทสามารถลดการพึ่งพารายได้จากค่านายหน้ามาตั้งแต่ปี 2557

บริษัทยังได้มีการกระจายฐานรายได้ไปยังภูมิภาคอื่นด้วยโดยบริษัทเป็นผู้ประกอบการธุรกิจหลักทรัพย์ไทยรายแรก ๆ ที่ขยายธุรกิจไปในภูมิภาคอินโดจีน บริษัทถือหุ้น 30% ใน BCEL-KT Securities Co., Ltd. (BCEL-KT) ซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ 1 ใน 4 แห่งของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) โดยผ่านการลงทุนใน Thanh Cong Securities Joint Stock Company (TCSC) ของ บล. ซีมิโก้ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทอีกรายหนึ่ง (ในสัดส่วน 49.71%)

ล่าสุดบริษัทยังได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ Ruby Hills Finance เพื่อจัดตั้งบริษัทหลักทรัพย์ในประเทศเมียนมาด้วย การมีเครือข่ายในภูมิภาคและความได้เปรียบจากการริเริ่มขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศก่อนคู่แข่งน่าจะสร้างความได้เปรียบให้แก่บริษัทเหนือคู่แข่งท้องถิ่นในการให้บริการวาณิชธนกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมข้ามชาติได้เป็นอย่างดี

สถานะทางการตลาดที่อ่อนแอลง ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง บริษัทมีกลยุทธ์หลีกเลี่ยงการตัดราคาเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดซึ่งส่งผลให้ส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยลดลงจาก 2.96% ในปี 2557 (อันดับ 13) มาอยู่ที่ 2.80% ในปี 2558 (อันดับ 15) อยู่ที่ 2.57% ในปี 2559 (อันดับ 19) และอยู่ที่ 2.27% ในปี 2560 (อันดับ 22)

ถึงแม้ว่าอัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าโดยเฉลี่ยของบริษัทจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 จากปี 2559 แต่อัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าโดยเฉลี่ยของบริษัทก็ยังคงสูงกว่าค่าธรรมเนียมโดยเฉลี่ยในอุตสาหกรรมซึ่งยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนแบ่งทางการตลาดของรายได้ธุรกิจหลักทรัพย์ของบริษัทลดลงเล็กน้อยจาก 4% ในปี 2559 มาอยู่ที่ประมาณ 3% ณ เดือนมิถุนายน 2560 ส่วนธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้น ส่วนแบ่งทางการตลาดของรายได้ของบริษัทก็มีทิศทางลดลงเช่นกัน โดยลดลงจากประมาณ 6% ในปี 2557 มาอยู่ที่ประมาณ 3% ณ เดือนมิถุนายน 2560

ความสามารถในการทำกำไรที่ลดลง ภายหลังการรับโอนธุรกิจหลักทรัพย์มาจาก บล. ซีมิโก้ในปี 2552 บริษัทก็เริ่มมีผลการดำเนินงานที่มีกำไร แต่เนื่องจากการเพิ่มขึ้นอย่างมากของค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 จึงส่งผลทำให้บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 86 ล้านบาทและทำให้อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 ของบริษัทอยู่ที่ -0.9% ตามอัตราส่วนที่ยังไม่ได้ปรับให้เป็นตัวเลขเต็มปีโดยเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 1.65% ทั้งนี้ ในปี 2560 บริษัทมีกำไรสุทธิ 3.2 ล้านบาทและมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยเท่ากับ 0.03% สัดส่วนกำไรต่อรายได้ของบริษัทก็ยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูง โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้สุทธิอยู่ที่ระดับ 89% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 64% ในช่วงเวลาเดียวกัน อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้สุทธิของบริษัทอยู่ที่ระดับ 84% ในปี 2560 การปรับตัวลดลงของกำไรสุทธิเป็นผลหลักๆ มาจากการลดลงของรายได้จากค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและการเพิ่มขึ้นอย่างมากของค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญ

มีความเสี่ยงที่จำกัดทั้งในด้านการตลาดและด้านเครดิต ปัจจุบันบริษัทมีการจำกัดความเสี่ยงด้านการตลาดให้เหลือน้อยลงโดยไม่มีการลงทุนแบบเก็งกำไรเหมือนในอดีต แต่เน้นการลงทุนแบบ Arbitrage กับการลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ให้มากขึ้น บริษัทยังมีความเสี่ยงด้านเครดิตจากการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ โดยยอดลูกหนี้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทพุ่งขึ้นสูงสุดในปี 2559 ที่มูลค่าประมาณ 6,700 ล้านบาท แต่ ณ เดือนกันยายน 2560 ก็ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 4,700 ล้านบาท และอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2560

ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีส่วนแบ่งการให้สินเชื่อเมื่อเทียบกับยอดลูกหนี้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์รวมทั้งอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างมากโดยอยู่ที่ระดับประมาณ 11.6% ในปี 2559 แต่ส่วนแบ่งดังกล่าวก็เริ่มลดลงในช่วงปี 2560 และอยู่ที่ระดับ 7.2% ณ เดือนกันยายน 2560 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะจำกัดวงเงินสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ไม่ให้เกินระดับสูงสุดที่บริษัทเคยมีที่ประมาณ 7,000 ล้านบาทเมื่อปี 2559

มีฐานทุนที่ค่อนข้างตึงตัว บริษัทเป็นผู้ประกอบการที่มีหนี้สินเมื่อเทียบกับทุนที่สูงมากที่สุดรายหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทหลักทรัพย์รายอื่น ๆ ที่ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิต ทั้งนี้ ในปี 2560 บริษัทมีฐานทุนอยู่ที่ 2,400 ล้านบาทซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับในปี 2559 ถึงแม้ว่าอัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ที่ปรับตัวเลขแล้วจะเพิ่มขึ้นจาก 26.3% ในปี 2559 มาอยู่ที่ 34% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 58.4% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ณ สิ้นปี 2560 อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ที่ปรับตัวเลขแล้วของบริษัทอยู่ที่ 33.2% อีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่าฐานเงินทุนของบริษัทอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรม บริษัทมีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิต่อหนี้สินทั่วไปเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 18% ในปี 2560 จาก 13% ในปี 2559 ทั้งนี้ ความพยายามในการใช้ประโยชน์จากฐานทุนอย่างเต็มที่ทำให้บริษัทเป็นหนึ่งในบริษัทหลักทรัพย์ที่มีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิต่อหนี้สินทั่วไปที่ต่ำมากที่สุดแห่งหนึ่ง

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากธนาคารกรุงไทยต่อไป รวมทั้งจะสามารถรักษาส่วนแบ่งรายได้ในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เอาไว้ได้ภายใต้สภาพการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และจะคงไว้ซึ่งระบบจัดการความเสี่ยงที่เพียงพอในการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ซึ่งรวมไปถึงกิจกรรมป้องกันความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังว่าบริษัทจะไม่ขยายธุรกิจอย่างรวดเร็วเกินไปจนกระทบต่อสัดส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญด้วย

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทสามารถขยายอัตราการเติบโตของกำไรและส่วนแบ่งทางการตลาดได้อย่างยั่งยืน หรือหากธนาคารกรุงไทยแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นมากขึ้นในการที่จะให้การสนับสนุนแก่บริษัทในฐานะเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของธนาคาร ในทางกลับกัน อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับลดลงได้หากบริษัทสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญซึ่งเกิดจากผลประกอบการทางการเงินที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง หรือหากบริษัทเพิ่มสัดส่วนหนี้สินต่อทุนอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ หากความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทที่มีต่อธนาคารกรุงไทยลดลง อันดับเครดิตของบริษัทก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ