CHO เชื่อกระทบไม่มากหาก ขสมก.ยกเลิกติดตั้ง Cash box ยันเดินหน้า E-Ticket

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 13, 2018 16:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ช ทวี (CHO) เปิดเผยว่า ความคืบหน้างานโครงการเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ (E-Ticket) และเครื่องเก็บค่าโดยสาร หรือ "แคชบ็อกซ์" (Cash box) บนรถโดยสารประจำทาง 2,600 คัน ปัจจุบันบริษัทฯ มีแผนดำเนินการติดตั้งเครื่อง E-Ticket ต่อเนื่องให้ครบ 2,600 คันตามกำหนด

และในส่วนเครื่องเก็บค่าโดยสาร หรือ "แคชบ็อกซ์" (Cash box) ขณะนี้ ขสมก.อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อกฎหมาย และพิจารณาเพื่อดำเนินการตัดสินใจเรื่องกล่องเก็บค่าโดยสารหลังจากการตรวจรับ 100 คันแรกภายในเดือน มี.ค.61 เนื่องจากเล็งเห็นว่าในอนาคตจะเข้าสู่ยุค Cashless Society หรือสังคมไร้เงินสด

"หากมีข้อยุติการติดตั้งเครื่องเก็บค่าโดยสาร แต่เครื่องดังกล่าวก็เป็นหนึ่งใน Hardware ร่วมกับเครื่อง E-Ticket นอกจากนี้ ใน TOR ยังต้องมีอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระบบรวมทั้ง Software การฝึกอบรม และการบริหารจัดการอื่นๆ ที่จะต้องส่งข้อมูลให้กับ ขสมก.และการดูแลบำรุงรักษาอุปกรณ์ ให้ทำงานได้อย่างสม่ำเสมอ ตลอดระยะเวลา 5 ปี ซึ่งหากยกเลิกการติดตั้งเครื่องเก็บค่าโดยสาร(Cash box) Software ระบบ อุปกรณ์ และการบริหารจัดการข้อมูล ต่างๆ เพื่อทำสรุปรายงาน และส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงใช้งานเท่าเดิม ส่งผลทำให้มูลค่าโครงการลดลงไม่มากนัก"นายสุรเดช กล่าว

ขณะที่งานโครงการรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) พร้อมซ่อมแซมและบำรุงรถโดยสาร จำนวน 489 คัน ปัจจุบัน กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ได้นำเข้าตัวรถมาแล้ว และอยู่ระหว่างติดตั้งเครื่องยนต์ เกียร์ คัสซี และอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งนำรถตัวอย่างเข้าทดสอบ ตามเส้นทางของ ขสมก. พร้อมเตรียมทยอยส่งมอบงานล็อตแรกจำนวน 100 คัน ภายในเดือน มี.ค.นี้

ส่วนความคืบหน้าการเข้าร่วมประมูลงานโครงการพัฒนาเมืองขอนแก่นร่วมกับพันธมิตร จำนวน 2 โครงการ ปัจจุบันสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้สรุปผลการศึกษาโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนระบบรางเบา สายเหนือ-ใต้ ต้นแบบในเมืองภูมิภาค จ.ขอนแก่น ระยะทาง 26 กม. เสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์เพื่อส่งให้จังหวัดดำเนินการต่อไป ซึ่งคาดว่าจะสามารถทราบผลชัดเจนได้ภายในไตรมาส 2 นี้

ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นขยายตลาดทั้งในประเทศ อาทิ การขยายฐานลูกค้าด้านการขนส่งตามหัวเมืองใหญ่ๆ การเข้าประมูลงานทั้งภาครัฐและเอกชน และต่างประเทศ อาทิ การเจาะตลาดรถลำเลียงอาหาร, รถอื่นๆ ที่ใช้ในสนามบิน, รถใช้ในภาระกิจอื่น ๆ , เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง และผลิตรถตามออเดอร์ เป็นต้น ไปพร้อมกับการขยายศูนย์บริการซ่อมรถบรรทุก "สิบล้อ 24 ชั่วโมง" ให้ครบ 8 แห่ง ภายใน 3 ปี (พ.ศ. 2561-2563) รวมทั้งงานบริหารโครงการต่าง ๆ โครงการ Smart Transit เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของบริษัท รวมไปถึงการบริหารจัดการต้นทุนต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นายสุรเดช กล่าวว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 61 คาดว่าจะเติบเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยได้รับปัจจัยหนุนจากปริมาณงานในมือ (Backlog) ที่มีกว่า 6,500 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้แต่ตั้งแต่ไตรมาส 1/61 เป็นต้นไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ