นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้เห็นชอบในหลักการยกร่าง พ.ร.ก.กำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะมีความชัดเจนในสัปดาห์หน้า โดยสาระสำคัญจะกำหนดแนวทางการกำกับดูแล และการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องด้วย
"หลักการ คือ ต้องการกำกับดูแลธุรกิจที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ให้ประชาชนถูกฉ้อโกง และมีการฟอกเงินเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้ปิดโอกาสการทำธุรกิจนี้...ซึ่งวันนี้ ครม.เห็นชอบในหลักการของกฎหมายนี้ แต่ความชัดเจนต้องรอสัปดาห์หน้า" นายณัฐพร ระบุ
ในวันนี้ ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ.... (การจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัล) โดยกำหนดนิยามของทรัพย์สินดิจิทัล ประเภทเงินได้ของเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัล และการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัล เพื่อให้ผู้มีเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัลและผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับทรัพย์สินดิจิทัลเสียภาษีตามประมวลรัษฎากรอย่างถูกต้องครบถ้วนเช่นเดียวกันกับผู้มีเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินอื่น ๆ และผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับทรัพย์สินอื่น ๆ
และเนื่องจากในปัจจุบันได้มีการนำทรัพย์สินดิจิทัลมาใช้ในการประกอบธุรกิจและการกระทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศแล้ว โดยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนเพื่อความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะต้องตราพระราชกำหนด
สำหรับสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ.... (การจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัล) เป็นการกำหนดนิยามของทรัพย์สินดิจิทัล ประเภทของเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัล และการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายของเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัล ดังนี้
1. กำหนดนิยามของทรัพย์สินดิจิทัลในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากรดังนี้
1.1 ทรัพย์สินดิจิทัล หมายความว่า (1) คริปโทเคอร์เรนซี (2) โทเคนดิจิทัล และ (3) ทรัพย์สินในรูปหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด
1.2 คริปโทเคอร์เรนซี หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจมีราคาหรือมูลค่าอันถือเอาได้ โดยเป็นการตกลงหรือยอมรับระหว่างบุคคลในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด โดยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่มีการอ้างอิงเงินตรา เงินตราต่างประเทศ หรือสินค้าโภคภัณฑ์ใด
1.3 โทเคนดิจิทัล หมายความว่า หน่วยแสดงสิทธิในรูปหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด ทั้งนี้ ตามข้อตกลงที่กำหนดไว้โดยเฉพาะเจาะจงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ
2. เพิ่มประเภทย่อยของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4) แห่งประมวลรัษฎากรอีก 2 ประเภทสำหรับเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัลดังนี้
2.1 มาตรา 40(4)(ซ) เงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดที่ได้จากทรัพย์สินดิจิทัล
2.2 มาตรา 40(4)(ฌ) ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินดิจิทัล ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน
3. กำหนดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ซ) และมาตรา 40(4)(ฌ) โดยผู้มีเงินได้ต้องนำไปรวมคำนวณเงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย
สำหรับการกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายนั้นสามารถดำเนินการโดยการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้และคำสั่งกรมสรรพากร เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากรมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เมื่อ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัล) มีผลใช้บังคับแล้ว
ทั้งนี้ โดยให้พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัล) มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
"ต้องขึ้นอยู่กับว่าสินทรัพย์ดิจิทัลนี้เป็นลักษณะใด หากมีการซื้อขายแล้วมีกำไรเกิดขึ้น มันก็ควรต้องเสียภาษีเหมือนกรณีทั่วไป แต่ถ้าสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งมีโทเคนที่เป็นเหมือนหุ้นที่จะมีการจ่ายเงินปันผล ก็ควรต้องเสียภาษีตามปันผล ต้องให้เท่าเทียม ไม่ว่าจะมาในรูปของดิจิทัล หรือในรูปของใบหุ้น"นายณัฐพร กล่าว