หุ้นกลุ่มทีวีดิจิทัลปรับขึ้นยกแผง นำโดยหุ้น BEC ปรับขึ้น 1.52% มาที่ 13.40 บาท หรือเพิ่มขึ้น 0.20 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 233.58 ล้านบาท เมื่อเวลา 10.12 น. ราคาหุ้นเปิดตลาดที่ 13.10 บาท ราคาทำระดับสูงสุดที่ 13.50 บาท และทำระดับต่ำสุดที่ 13.10 บาท
หุ้น MONO อยู่ที่ 4.26 บาท เพิ่มขึ้น 0.06 บาท (+1.43%)
หุ้น MCOT อยู่ที่ 10.80 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท (+4.85%)
หุ้น RS อยู่ที่ 31.00 บาท เพิ่มขึ้น 1.25 บาท (+4.20%)
หุ้น GRAMMY อยู่ที่ 9.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.05 บาท (+0.53%)
หุ้น WORK อยู่ที่ 73.00 บาท เพิ่มขึ้น 3.00 บาท (+4.29%)
วานนี้ ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้บรัษัท ไทยทีวี จำกัด ที่ฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยขอให้เพิกถอนคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่นั้น สามารถบอกเลิกการให้บริการทีวีดิจิทัลได้ หลัง กสทช.ไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาในการขยายโครงข่ายและการส่งเสริมกิจการทีวีดิจิทัลตามที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวนผู้ประกอบการ พร้อมสั่งให้กสทช.คืนเงินค้ำประกันที่ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ออกไว้เป็นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวด 3 และงวดถัดมา จำนวน 1,500 ล้านบาท
บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่ามีมุมมองเชิงบวกกับข่าวข้างต้น เพราะมีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลหลายรายต้องการคืนใบอนุญาต โดยมองว่าข่าวข้างต้นเป็นบวกต่อกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลรายใหญ่ ที่เป็นทั้งผู้ประกอบการและผลิตcontent คือ บมจ.บีอีซี เวิลด์ (BEC), บมจ.เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ (WORK) ,บมจ.โมโน เทคโนโลยี (MONO), บมจ.อาร์เอส (RS), บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) และกลุ่มธนาคาร คือ BBL แต่อย่างไรก็ดีทาง กสทช.ยังสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ซึ่งอาจส่งผลให้คดียังไม่ถึงที่สุด
ขณแดียวกัน มองว่าการแข่งขันในกลุ่มทีวีดิจิทัลจะลดลง เนื่องจากมีผู้ประกอบการหลายรายต้องการคืนใบอนุญาต และเคยยื่นข้อเสนอต่อ กสทช.แล้ว โดยมองว่าทีวีดิจิทัลในไทยควรมีประมาณ 15-16 ช่องจะส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาของแต่ละช่องอยู่ที่ประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่รอดได้
สำหรับหุ้นที่จะได้ประโยชน์ในครั้งนี้ คือ BEC, WORK, MONO, RS และ GRAMMY ซึ่งผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่เป็นทั้งผู้ผลิต Content และผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล นอกเหนือจากนี้ยังมุมมองเชิงบวกต่อ BBL เพราะเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของไทยทีวี ซึ่งได้มีการจ่ายแบงก์การันตีให้กับทาง กสทช.ไปแล้ว 1,500 ล้านบาท และได้มีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไปแล้วเต็มจำนวน คาดว่ารายการนี้จะมีการ reverse กลับมาเป็นรายได้หรือนำมาลดค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองค่าเผื่อฯได้ ซึ่งจะเป็น Upside ต่อกำไรสุทธิในปี 61 ราว 4% หรือคิดเป็น Upside ต่อราคาหุ้นราว 0.8 บาท
ธนาคารที่มีการปล่อยให้กลุ่มทีวีดิจิทัลมากที่สุดคือ BBL รวม 14 ช่อง จำนวน 21,600 ล้านบาท รองลงมาเป็น ธ.กสิกรไทย (KBANK) รวม 8 ช่อง จำนวน 10,900 ล้านบาท และธ.กรุงศรีอยุธยา (BAY) รวม 2 ช่อง จำนวน 2,680 ล้านบาท ขณะที่ในเบื้องต้นยังแนะนำ ซื้อ BBL ราคาเป้าหมายที่ 222 บาท