บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ให้กับ บริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด (NNEG) เป็นครั้งแรกที่ ‘A-(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตของ NNEG สะท้อนถึงกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่คาดการณ์ได้และค่อนข้างมีความแน่นอน อัตราส่วนหนี้สินในระดับปานกลาง และความเสี่ยงจากการมีโรงไฟฟ้าเพียงแห่งเดียว
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต อันดับเครดิตของ NNEG สะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งและมั่นคงของบริษัทฯ ในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ภายใต้โครงการจัดซื้อไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กของไทย NNEG ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 25 ปี (PPA) ในลักษณะ take or pay เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าจำนวน 90 เมกะวัตต์ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในขณะที่บริษัทฯจะจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำที่เหลือจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนาด 125 เมกะวัตต์ของบริษัทฯให้แก่ผู้ใช้อุตสาหกรรมภายใต้สัญญาซื้อขายระยะยาว (โดยเฉลี่ยประมาณ 20 ปี) ลักษณะสัญญาดังกล่าวช่วยให้บริษัทฯมีรายได้และกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ
ความเสี่ยงด้านความต้องการที่ต่ำ: ประมาณ 72% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของ NNEG จะถูกขายภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โดยภายใต้สัญญาดังกล่าว กฟผ. จะต้องจ่ายค่าใช้ไฟฟ้าและสั่งจ่ายกระแสไฟฟ้าอย่างน้อย 80% ของกำลังการผลิตที่ตกลงกัน ในขณะเดียวกันแม้ว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำกับผู้ใช้อุตสาหกรรมจะไม่มีข้อกำหนดการซื้อขายขั้นต่ำ แต่ความเสี่ยงด้านความต้องการจะถูกลดทอนจากความต้องการที่สูงของผู้ใช้อุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร รวมถึงการกระจายตัวของจำนวนลูกค้าโดยโรงงานใน นิคมอุตสาหกรรมนวนครมีความต้องการพลังงานไฟฟ้ามากกว่า 400 เมกะวัตต์และไอน้ำกว่า 60 ตันต่อชั่วโมง ในขณะที่ NNEG เป็น SPP รายเดียวใน นิคมอุตสาหกรรม นอกเหนือจากนี้หนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ NNEG คือ บมจ.นวนคร (NNCL) ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ดำเนินการ นิคมอุตสาหกรรมนวนคร
มีความเสี่ยงด้านราคาเล็กน้อย: ลักษณะของสัญญา PPA ทำให้ความเสี่ยงด้านตลาดตกไปอยู่ที่ กฟผ. โดย NNEG สามารถส่งผ่านค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากต้นทุนเชื้อเพลิงและจากอัตราแลกเปลี่ยนไปให้กับ กฟผ. ได้ ในขณะที่การจำหน่ายไอน้ำให้แก่ผู้ใช้อุตสาหกรรมเองก็มีลักษณะราคาเป็นแบบต้นทุนบวกกำไรซึ่งทำให้สามารถส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้ซื้อได้ อย่างไรก็ตาม กำไรจากการขายไฟฟ้าของ NNEG ให้แก่ผู้ใช้อุตสาหกรรมนั้นมีความเสี่ยงด้านราคาอยู่บางส่วน ถึงแม้ว่าสูตรการคำนวณค่าไฟฟ้าจะใช้ราคาเชื้อเพลิงเข้ามาร่วมประกอบการพิจารณา แต่การปรับค่าไฟฟ้าแต่ละครั้งนั้นจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งในอดีตได้มีความล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็นในการปรับค่าไฟฟ้าโดยเฉพาะในช่วงที่ราคาเชื้อเพลิงอยู่ในระดับสูง
อัตราส่วนหนี้สินที่สูงในระยะสั้น: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน (FFO-adjusted net leverage) ของ NNEG จะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 5.0 - 6.0 เท่า ในปี 2562-2563 จาก 4.3 เท่าในปี 2560 เนื่องจาก บริษัทฯมีแผนที่จะลงทุนเพิ่มจำนวน 3 พันล้านบาทสำหรับการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 60 เมกะวัตต์ภายใน 3 ปีข้างหน้า กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ NNEG ไม่น่าเพียงพอสำหรับการลงทุนและการจ่ายเงินปันผลในช่วงเวลาดังกล่าว NNEG มีแผนที่จะใช้หนี้สินและทุนในการลงทุนนี้โดยจะใช้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่ 3:1 อย่างไรก็อัตราส่วนหนี้สินสุทธิฯของบริษัทฯ จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญหลังจากปี 2564 เนื่องจากฟิทช์ไม่คาดว่าบริษัทฯจะมีการลงทุนขนาดใหญ่อีก นอกจากนี้กระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้นจากการขยายกำลังการผลิตดังกล่าวจะช่วยทำให้บริษัทฯ ลดอัตราส่วนหนี้สินสุทธิฯลงต่ำกว่า 3.5 เท่าในได้ระยะปานกลาง
ความเสี่ยงจากการมีโรงไฟฟ้าเพียงแห่งเดียว: NNEG มีโรงไฟฟ้าเพียงแห่งเดียว และมีขนาดธุรกิจขนาดเล็กและไม่มีการกระจายตัวของรายได้ ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่สำคัญสำหรับอันดับเครดิตของ NNEG รายได้และกระแสเงินสดของ NNEG อาจได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากการที่โรงไฟฟ้าจะต้องหยุดโดยไม่ได้คาดหมาย หรือประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าที่ลดลง อย่างไรก็ตามสัญญาการดำเนินการและบำรุงรักษากับ กฟผ. สัญญาบริการระยะยาวกับ Siemens และระบบป้องกันน้ำท่วมถาวรจะช่วยลดความเสี่ยงจากการดำเนินการได้ในระดับหนึ่ง
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป อันดับเครดิตของ NNEG สะท้อนถึงกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่คาดการณ์ได้และค่อนข้างมีความแน่นอน ความเสี่ยงจากการมีโรงไฟฟ้าเพียงแห่งเดียว และอัตราส่วนหนี้สินในระดับปานกลาง NNEG มีลักษณะธุรกิจที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับ บริษัทฯในประเทศไทยที่ฟิทช์ได้จัดอันดับเครดิตอยู่ อย่างไรก็ตามบริษัทฯมีขนาดและลักษณะของสินทรัพย์และความหลากหลายของธุรกิจที่ต่ำกว่าบริษัทฯในกลุ่มธุรกิจผลิตไฟฟ้าและระบบสาธารณูปโภคในประเทศไทยที่จัดอันดับโดยฟิทช์ และมีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า
NNEG มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่มีเสถียรภาพมากกว่า บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้แอนด์พาวเวอร์ (WHAUP) ที่มีเครดิต BBB+(tha)/แนวโน้มเครดิตเป็นลบ, ซึ่งมีสถานะทางเครดิตโดยลำพังที่ A-(tha)) เนื่องจากบริษัทฯมีสัญญา PPA กับ กฟผ. แต่มีความหลากหลายของธุรกิจที่น้อยกว่า ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินใกล้เคียงกัน ดังนั้นอันดับเครดิตของ NNEG จึงเท่ากับ สถานะทางเครดิตโดยลำพังที่ A-(tha) ของ WHAUP อันดับเครดิตของ WHAUP ที่ 'BBB+(tha)'แนวโน้มเครดิตเป็นลบนั้น ถูกจำกัดด้วยอันดับเครดิตของบริษัทแม่ ซึ่งได้แก่ บมจ.ดับบลิวเอชเอคอร์ปอเรชั่น (มหาชน)
NNEG มีการกระจายตัวของโรงไฟฟ้าและมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ต่ำกว่า บมจ.โกลบอลเพาเวอร์ซินเนอร์จี้ (GPSC) ที่มีอันดับเครดิจ A+(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ)มาก ในขณะที่ GPSC มีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่า จึงทำให้ NNEG มีอันดับเครดิตที่ต่ำกว่า
สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ:
- ค่าไฟฟ้าและไอน้ำเพิ่มขึ้นตามราคาก๊าซธรรมชาติ - การขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. ค่อนข้างคงที่ ในขณะที่ความต้องการของผู้ใช้อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นและเริ่มคงที่ในปี 2562 - การผลิตจากส่วนต่อขยายค่อยๆเพิ่มขึ้นจาก 2563 จนไปถึงระดับการผลิตเป้าหมายในปี 2565 - การลงทุนในส่วนต่อขยายช่วงปี 2561-2563 มูลค่า 3 พันล้านบาท - อัตราการจ่ายเงินปันผล 80% เพื่อรองรับการเพิ่มทุนของผู้ถือหุ้น
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต ปัจจัยบวก ได้แก่ การกระจายตัวของโรงฟ้าที่เพิ่มขึ้นและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญขณะที่ยังรักษาระดับอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน (FFO-adjusted net leverage) ที่ต่ำกว่า 3.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ปัจจัยลบ คือ เงินลงทุนที่มากกว่าที่คาดการณ์ กระแสเงินสดที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ ประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่น้อยกว่าที่คาดการณ์ หรือความสามารถในการส่งต่อภาระต้นทุนที่เปลี่ยนไปหรือการพัฒนาด้านกฎระเบียบที่ส่งผลกระทบทางลบต่อบริษัทฯ ซึ่งทำให้คาดการณ์ของระดับอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน (FFO-adjusted net leverage) ที่คาดการณ์ไว้สูงกว่า 4.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินฯ ของบริษัทฯจะสูงกว่าระดับดังกล่าวในช่วงปี 2561-2563 อันเป็นผลมาจากการลงทุนในส่วนต่อขยายที่ใช้แหล่งเงินทุนโดยการกู้
สภาพคล่องที่ดี: NNEG มียอดหนี้คงค้าง ณ สิ้นปี 2560 อยู่ที่ 4.2 พันล้านบาท ในจำนวนนี้หนี้จำนวน 279 ล้านบาท มีกำหนดชำระคืนภายใน 12 เดือน บริษัทฯมีสภาพคล่องที่เพียงพอ โดยมีเงินสดอยู่ที่ 511 ล้านบาท และ NNEG มีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่มีเสถียรภาพประมาณ 600-700 ล้านบาท ต่อปีในช่วงปี 2561-2563 ยกเว้นในปี 2562 เมื่อ บริษัทฯจะมี Minor overhaul นอกจากนี้ NNEG ยังมีวงเงินสินเชื่อสำหรับการดำเนินงานที่สามารถเบิกถอนได้อีก 450 ล้านบาทจากเงินกู้โครงการปัจจุบัน