นายฉัตรชัย ตรงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า สมาคมค้าปลีกไทยต้องการเสนอให้บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท.ที่เตรียมเปิดประมูลพื้นที่ดิวตี้ฟรีให้ประมูลพื้นที่สัมปทานดิวฟรีเป็นการเปิดประมูลในรูปแบบตามหมวดสินค้า(By Category) จากที่ให้ผู้ประกอบการเพียงรายเดียวดำเนินการทั้งพื้นที่ ให้เป็นการแบ่งประมูลตามหมวดสินค้า เพื่อให้ได้ผู้ประกอบการหลายรายที่มีความเชี่ยวชาญในสินค้าแต่ละประเภท และเพื่อให้มีความหลากหลายของสินค้าในสนามบิน เชื่อว่าจะทำให้อัตราผลตอบแทนที่ AOT จะได้รับมากกว่าในปัจจุบันที่กลุ่มคิงเพาเวอร์ให้อัตราผลตอบแทน 15%ต่อปีสำหรับพื้นที่ในสนามบินสุวรรณภูมิ และ อัตราผลตอบแทน 19%ในสนามบินดอนเมือง
ทั้งนี้ การให้เช่าพื้นที่ในสนามบินสุวรรณภูมิหลังจากขยายระยะที่ 2 จะทำให้พื้นที่ดิวตี้ฟรีขยายเพิ่มขึ้นเป็น 1.7 หมื่น ตร.ม.จาก 1.2 หมื่น ตร.ม.ในปัจจุบัน โดยขนาดที่เพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับสนามบินในต่างประเทศ ได้แก่ ฮาเนดะ อินชอน ฮ่องกง และ ชางงี ที่ต่างใช้วิธีการให้สัมปทานตามหมวดสินค้า ซึ่งทำให้ได้รับผลตอบแทนมากกว่า 30% จากผู้ประกอบการ 6-7 ราย
รวมทั้งเสนอให้กำหนดระยะเวลาสัมปทานร้านดิวตี้ฟรีเพียง 5-7 ปี ไม่ควรให้ระยะเวลานานถึง 10 ปี เพื่อให้สามารถปรับปรุงร้านค้าตามไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา
ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ระบุอีกว่า การเปิดประมูลพื้นที่ดิวตี้ฟรี AOT ควรจะพิจารณา 2 ขั้นตอน โดยขั้นตอนแรกควรพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นประมูล (Business Plan) จากนั้นจึงจะพิจารณาอัตราผลตอบแทน (Finance Plan) ว่ารายใดให้ผลตอบแทนมากที่สุด และควรให้มีบุคคลภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมเป็นกรรมการพิจารณาคัดเลือกด้วย หรืออย่างน้อยเข้าไปสังเกตุการณ์ อาทิ ตัวแทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รับชั่น, สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) , คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า เป็นต้น เพื่อให้การประมูลเป็นไปอย่างโปร่งใส
นอกจากนี้ ยังเห็นว่า AOT ควรเปิดเสรีการตั้งจุดส่งมอบสินค้า (pick up counter) ในสนามบินในลักษณะการเช่าพื้นที่ ไม่ใช่ให้สัมปทาน ซึ่งตรงนี้จะทำให้บริษัทที่มีใบอนุญาตทำธุรกิจดิวตี้ฟรีสามารถเปิดร้านดิวตี้ฟรีในเมืองได้มากกว่า 1 ราย
นายฉัตรชัย กล่าวว่า การเปิดสัมปทานพื้นที่ดิวตี้ฟรีแบบหมวดสินค้า และการปลดล็อก pick up counter จะเป็นการสนับสนุนให้ไทยเป็น Shopping Paradise ตามที่สมาคมฯ พยายามผลักดันผ่านรัฐบาลในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยขอให้ภาครัฐลดภาษีนำเข้าสินค้า Luxury good จาก 25-40% เหลือ 5-10% เพื่อให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทาง (destination) ที่นักท่องเที่ยวจะมาจับจ่ายซื้อสินค้าได้ตลอดทั้งปี ไม่ใช่เพียงฤดูท่องเที่ยว เหมือนอย่างในฮ่องกงจะมีช่วงช้อปปิ้งที่นักท่องเที่ยวนิยมไปกัน
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้รับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาแล้ว โดยสมาคมฯได้เสนอไป 8 รายการ และเบื้องต้นคาดว่าจะพิจารณาในหมวดน้ำหอมและเครื่องสำอางก่อน อยู่ในชั้นตอนที่จะต้องเดินหน้าต่อไป
ขณะที่ การขอตั้งจุดคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT Refund) ในเมืองนั้น ทางกระทรวงการคลังรับเรื่องแล้วและรอร่างกฎกระทรวงมารองรับ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จไม่เกินเดือน พ.ค.61 เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการจุดคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว หรือ Down town VAT Refund for Tourist เบื้องต้นจะตั้งจุดดังกล่าวไว้ 5 จุด ได้แก่ สยามพารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลชิดลม เอ็มโพเรียม และโรบินสันสุขุมวิท โดยการคืนเงินให้นักท่องเที่ยวจะเป็นเงินบาท เพื่อช่วยจูงใจให้นักท่องเที่ยวกลับมาซื้อสินค้าอีกโดยสถิติที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจะขอคืนเงินประมาณเฉลี่ย 2,000 บาท/ราย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าชั้นนำ 5 รายได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัทและเป็นผู้ดำเนินการเรื่องดังกล่าว
"ที่ผ่านมาสมาคมฯได้ผลักดันเรื่อง Shopping Paradise เรื่องแรกอยากให้เปิดเสรีร้านค้าขายสินค้าปลอดภาษีในเมือง 2.ปลดล็อกเรื่อง pick up counter 3. ลดภาษีนำเข้า ให้เหลือ 5-10% 4. VAT Refund for Tourist ในเมือง และการให้สัมปทานดิวตี้ฟรีในสนามบินควรเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม"นายฉัตรชัยกล่าว