นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ปีนี้ธนาคารจะรุกการให้บริการไพรเวทแบงก์ลูกค้าจีนที่อยู่ในไทยมากขึ้น เพื่อรองรับลูกค้าชาวจีนในไทย 10 ล้านคน โดยปัจจุบันธนาคารได้ให้บริการไพรเวทแบงก์กิ้งกับลูกค้าบุคคลสินทรัพย์สูงชาวจีนและลูกค้าที่สื่อสารด้วยภาษาจีนเป็นหลักในเมืองไทย 90 ราย มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) อยู่ที่ 4 พันล้านบาท คาดสิ้นปีนี้ AUM จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.25 หมื่นล้านบาท พร้อมกับพยายามผลักดันกลุ่มลูกค้าเดอะ วิสดอม ของธนาคารที่มีอยู่ 1,400 คน ไปสู่ระดับไพรเวทแบงก์
ด้านภาพรวมธุรกิจบริการไพรเวทแบงก์ของธนาคารในปีก่อนมีลูกค้าทั้งสิ้น 10,500 ราย โดยมี AUM อยู่ที่ 7.5 แสนล้านบาท โดยมีส่วนแบ่งตลาดราว 34% ของกลุ่มลูกค้าสินทรัพย์สูงในประเทศไทย ซึ่งการให้บริการไพรเวทแบงก์กิ้งลูกค้าจีนสินทรัพย์สูงจะให้บริการ 3 ด้าน คือ บริการเป็นที่ปรึกษาด้านบริหารทรัพย์สินครอบครัว บริการที่ปรึกษาด้านการลงทุนทั้งในและนอกตลาดทุน และเอกสิทธิ์ในการใช้ชีวิต ซึ่งลูกค้าจะได้รับโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลระดับโลก สร้างเครือข่ายธุรกิจ และร่วมกิจกรรมเพื่อสัมผัสประสบการณ์พิเศษ ผ่านทางทีมงานที่เชี่ยวชาญการลงทุนที่เข้าในความต้องการของชาวจีน และสามารถสื่อสารภาษาจีนได้ เพื่อให้บริการลูกค้ากลุ่มดังกล่าวโดยเฉพาะ
สำหรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างโอกาสด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างประเทศไทยและจีน ซึ่งจะช่วยดึงดูดให้นักธุรกิจจำนวนมากเข้ามาลงทุนตั้งกิจการในประเทศไทย โดยที่ชาวจีนและนักลงทุนจีนในประเทศไทยจะเน้นให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการธุรกิจให้เจริญรุ่งเรืองเป็นหลัก และในบางครั้งที่ไม่มีเวลาหรือไม่มีความชำนาญในการบริหารจัดการสินทรัพย์ส่วนบุคคล และวางแผนจัดการสินทรัพย์ครอบครัว ทำให้เสียโอกาสสร้างผลตอบแทนและความมั่นคงในส่วนนี้ ทำให้ธนาคารเล็งเห็นถึงความร่วมมือในการให้บริการไพเวทแบงกิ้งสำหรับลูกค้าชาวจีนสินทรัพย์สูงของธนาคารกสิกรไทย และพันธมิตรสำคัญ คือ Lombard Odier จะช่วยเติมเต็มธุรกิจและชีวิตส่วนตัวของลูกค้ามากขึ้น
นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานสภาธุรกิจไทย-จีน กล่าวในงานสัมมนา "EEC & THE FUTURE OF GREATER MEKONG SUBREGION (GMS) : INVESTMENT OPPORTUNITIES FOR CHINESE IN THAILAND" หัวข้อ "ความร่วมมือในการสร้างเวทีการค้าขึ้นระหว่างไทย-จีน และโอกาสการลงทุนของนักลงทุนจีนว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจในแง่ของการลงทุนมากกว่าประเทศอื่นๆใน CLMV เนื่องจากตั้งอยู่ในทำเลที่เป็นจุดเชื่อมต่อไปยังประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะใน CLMV อีกทั้งยังมีภัยธรรมชาติที่เข้ามาส่งผลกระทบน้อยมาก ประกอบกับปัจจัยการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทยได้มีความก้าวหน้าไปมากขึ้น ทำให้มีประสิทธิภาพของการผลิต และคุณภาพการผลิตที่ดีเทียบเท่ากับมาตรฐานโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ประเทศไทยมีความโดดเด่น สามารถผลิตรถยนต์ส่งออกไปขายยังตลาดโลกและติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่มีการผลิตรถยนต์ของโลก
ด้านความร่วมมือกับประเทศจีนในด้านการลงทุนนั้นจะเป็นการเชื่อมโยงเส้นทางการคมนาคมจากประเทศไทยไปสู่จีน เพื่อให้การขนส่งมีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น และมีต้นทุนการขนส่งที่ลดลง โดยที่จะเป็นการเชื่อมโยงการขนส่งเส้นทางรางจากจีนมาสู่พื้นที่ EEC ซึ่งจะมีการลงทุนจากนักลงทุนจีนที่เข้ามาลงทุนใน EEC มากขึ้น โดยมองว่า EEC เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่จะช่วยให้การลงทุนในภาคตะวันออกกลับมาคึกคักอีกครั้ง และดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาสู่ประเทศไทยได้มาก พร้อมกับมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาเสริมทำให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยมีความทันสมัยมากขึ้น โดยที่จีนจะเป็นนักลงทุนหลักที่เข้ามาลงทุนใน EEC เป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้การลงทุน EEC จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ เพราะจะมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนที่สูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท โดยมี 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเป็นการต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคอุตสาหกรรมของไทย ซึ่งจะเป็น New S Curve ใหม่ ที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Thailand 4.0
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวในหัวข้อทิศทางและแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2018 ว่า หอการค้าไทยคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 61 จะขยายตัวได้ที่ระดับ 4-4.5% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวได้ 3.9% โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากภาคการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวดีตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และการท่องเที่ยวที่ในปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 37 ล้านคน จากปีก่อนที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศไทย 35 ล้านคน รวมไปถึงการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ การพัฒนาพื้นที่ EEC
นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยยังได้รับอานิสงส์จากการจับจ่ายใช้สอยที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในปีนี้ จากรายได้ภาคเกษตรที่เริ่มฟื้นตัวดี ขณะเดียวยังมีการผลักดันโครงการ EEC ของภาครัฐที่น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดการลงทุนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ภาครัฐส่งเสริมเป็นพิเศษ
"สถานการณ์หลายอย่างในปีนี้เริ่มดีขึ้น โดยเฉพาะราคาพืชผลทางการเกษตรที่เริ่มมีทิศทางดี เห็นได้จากราคาข้าวหอมมะลิที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 19,000 บาท/ตัน และตัวเลขการลงทุนในปีนี้ก็คาดว่ากลับมาเป็นบวกจากปีก่อนที่ติดลบ เพราะในปีนี้มีโครงการลงทุนต่างๆเกิดขึ้นมาก ซึ่งจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก หลังจากปีก่อนการลงทุนชะลอไป"นายกลินท์ กล่าว