นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย คาดว่า กำไรสุทธิในปี 61 จะสูงกว่าปี 60 เพราะคาดว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกปีนี้น่าจะทรงตัวที่ระดับราคา 72-75 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันตลาดโลกก็เคลื่อนไหวในระดับราคาดังกล่าว ขณะเดียวกันบริษัทได้ทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน (Hedging) ไว้แล้ว 16% และไม่มีแผนเก็บค่าธรรมเนียมน้ำมัน (Fuel Surcharge) โดยต้นทุนน้ำมันคิดเป็นสัดส่วน 30% ของต้นทุนรวม ขณะที่เงินบาทแข็งค่าเป็นประโยชน์ต่อ AAV เพราะค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าเช่าเครื่องบิน และค่าน้ำมันได้จ่ายในรูปเงินเหรียญสหรัฐ ส่วนต้นทุนการเงินบริษัทได้จัดการจ่ายอัตราดอกเบี้ยคงที่ไว้แล้ว
ปี 60 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1.48 พันล้านบาท ลดลง 21% จากปี 59 ที่มีกำไรสุทธิ 1.87 พันล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันตลาดโลกในปีก่อนปรับตัวขึ้นสูงที่มีราคาเฉลี่ย 63 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากปี 59 ราคาน้ำมันตลาดโลกเฉลี่ยที่ 52 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันอากาศยานสำหรับเส้นทางบินในประเทศช่วงต้นปี 60 ขณะเดียวกันสายการบินยังไม่สามารถปรับราคาค่าโดยสารครอบคลุมค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันได้ และไม่ได้จัดเก็บ Fuel Surcharge เพราะมีการแข่งขันสูง หากเก็บส่วนนี้เพิ่มจะทำให้ราคาแข่งขันได้ยาก อย่างไรก็ตามสายการบินรายอื่นก็มีกำไรลดลงเช่นกัน หรือบางรายก็ประสบผลขาดทุน ในปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้ค่าโดยสารเฉลี่ยจะปรับขึ้น 4-5% มาที่ 1,650 บาท/คน ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยทั้งเส้นทางในประเทศและต่างประเทศ จากปีก่อนราคาค่าโดยสารอยู่ที่ 1,500 บาท/คน เพราะคาดว่าการแข่งขันในปีนี้จะลดลงหลังจากปีที่แล้วมีการแข่งขันสูงมาก
นอกจากนี้บริษัทปรับเป้าจำนวนผู้โดยสารปีนี้มาเป็น 23.2 ล้านคน จากเดิมตั้งเป้าไว้ที่ 22 ล้านคน โดยเป้าหมายจำนวนผู้โดยสารปีนี้จะเติบโต 17% จากปีก่อนที่มีจำนวนผู้โดยสาร 19.8 ล้านคน โดยมีอัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสาร (Cabin Factor) ในปีนี้อยู่ที่ 87% จากเดิมตั้งเป้ามี Cabin Factor เฉลี่ย 84% เนื่องจากบริษัทมีแผนรับเครื่องบินเพิ่มเป็นจำนวน 7 ลำจากเดิมรับมอบ 6 ลำ โดยเครื่องบินใหม่จะรับมอบในไตรมาส 1/61 ถึง 4 ลำ ทำให้บริษัทได้รับรู้รายได้เต็มปี ส่วนที่เหลือจะรับมอบในเดือน ก.ค. และ ต.ค. 61
นายธรรศพลฐ์ กล่าวว่า การรับมอบเครื่องบินได้ตั้งแต่ต้นปีทำให้บริษัทจะขยายความถี่เส้นทางในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) และเปิดเส้นทางบินเมืองรอง อาทิ ชุมพร เป็นต้น และเพิ่มความถี่เมืองรองที่ได้รับความนิยม ได้แก่ น่าน เลย บุรีรัมย์ เป็นต้น ขณะเดียวกันได้หารือกับหน่วยงานภาครัฐทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมท่าอากาศยาน สังกัดกระทรวงคมนาคมให้ช่วยเพิ่มศักยภาพสนามบินให้สามารถนำเครื่องบินลำใหญ่ลงจอดได้ อย่างแอร์บัส A320 ที่ไทยแอร์เอเชียใช้บินอยู่ หรือ โบอิ้ง 737 แทนที่จะใช้ได้เพียงเครื่องบินใบพัด ก็จะช่วยขยายศักยภาพเมืองเพิ่มการท่องเที่ยวตามนโยบายรัฐบาลได้มากขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดตามแนวชายแดน ซึ่งคาดว่าในปีนี้หรือต้นปีหน้าอาจจะมี 2-3 จังหวัดที่สนามบินสามารถรองรับเครื่องบินลำใหญ่ได้ เช่น แม่สอด แม่ฮ่องสอน ส่วนสนามบินเบตง ซึ่งกำลังก่อสร้างคาดจะเปิดใช้ต้นปี 62 หรือ ปายก็มีคนต้องการเดินทางไปท่องเที่ยว มองว่าเส้นทางกรุงเทพ-ปาย มีตลาดมีความต้องการอยู่แล้ว ดังนั้น ไม่ต้องให้ตลาดนำแต่ควรจะต้องไปสร้างตลาดด้วย
ในปี 61 สายการบินไทยแอร์เอเชียจะเปิดเส้นทางบินในประเทศเน้นเมืองรอง ยกเว้น หัวหิน นครราชสีมา ที่สามารถมาทางรถยนต์ได้ และเพชรบูรณ์ที่คนนิยมมาเพียงช่วงท่องเที่ยว และเปิดเส้นทางเชื่อมเมืองหลักไปเมืองรอง หรือเส้นทางเชื่อมเมืองรองกับเมืองรอง หรือเส้นทางบินในภาคเดียวกันที่ยังไม่เคยทำ เช่น เชียงใหม่-เชียงราย, ภูเก็ต-หาดใหญ่ ส่วนเส้นทางต่างประเทศจะเน้นกลุ่ม CLMV เป็นหลัก คาดจะเปิดจุดบินใหม่ 1-2 เมืองในไตรมาส 3/61 ได้แก่ พุกาม (เมียนมา) เวียดนาม 2 เมืองคาดเปิดบินปลายไตรมาส 3/61 และกำลังศึกษาจุดบินที่เมืองสะหวันนะเขต และเมืองปากเซ ในลาวหลังจากที่สนามบินก่อสร้างใกล้เสร็จ และจะเปิดจุดบินใหม่ในอินเดียด้วยอีก 2-5 เมือง คาดเปิดบินในกลางปีนี้
"เรารับเครื่องบินเร็วขึ้นเพราะต้องการอุดรอยรั่วในประเทศ และในกลุ่ม CLMV...ปีนี้เราเน้นเมืองรอง และกลุ่ม CLMV เราจะยึดหัวหาด ตอนนี้เรามีมาร์เก็ตแชร์อันดับหนึ่งอยู่แล้ว โดย capacity เราเยอะสุดอยู่แล้ว แต่เราก็อยากให้มากกว่านี้"นายธรรศพลฐ์ กล่าว
นายธรรศพลฐ์ กล่าวว่า ส่วนตลาดจีน อาจจะเปิดจุดบินใหม่ 2 เมือง เพราะไม่ต้องการขยายตลาดจีนไปมากนัก เพราะปัจจุบันสัดส่วนผู้โดยสารชาวจีนมีสัดส่วน 20% ของจำนวนผู้โดยสารทั้งหมดในปีก่อน หรือมีจำนวนประมาณ 4 ล้านคน และคิดเป็นสัดส่วนรายได้จากตลาดจีน 30% บริษัทต้องการคงสัดส่วนตลาดจีนไว้เช่นนี้เพราะไม่ต้องการพึ่งพิงตลาดจีนมากนัก จึงคงวางสัดส่วนรายได้ 30% ไม่ให้มากเกินกว่านี้ เพราะเกรงว่าหากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ไทยแอร์เอเชียจะได้รับผลกระทบ ในปีนี้เน้นเพิ่มสัดส่วนผู้โดยสารจากกลุ่ม CLMV และไทย รวมอาเซียนด้วย โดยสัดส่วนปีนี้จะเป็นผู้โดยสารจากกลุ่ม CLMV 20% จีน 20% อินเดีย 10% ไทย 35-40% และ 10-15% จากอาเซียน
นอกจากนี้บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนศูนย์ปฏิบัติการการบิน (HUB) ในแถบอีสาน และเหนือ 2-3 แห่ง คาดใช้เงินลงทุนรวมไม่เกิน 1 พันล้านบาท คาดว่าจะได้ความชัดเจนในปีนี้หรือปีหน้า โดยปัจจุบันมี HUB อยู่ 6 แห่ง ได้แก่ ดอนเมือง ,เชียงใหม่ ,ภูเก็ต ,หาดใหญ๋ ,กระบี่ และอู่ตะเภา
ส่วนกรณีที่ขอซื้อหุ้น AAV คืนจากกลุ่ม"ศรีวัฒนประภา"ซึ่งเป็นผู้บริหารกลุ่มคิง เพาเวอร์ นั้น นายธรรศพลฐ์ กล่าวว่า การกลับมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน AAV อีกครั้งเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหาร เพราะธุรกิจสายการบินต้องทำงานให้ทันกับสถานการณ์ตลาด แต่หากรอคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติก็อาจไม่ทันการณ์แต่เมื่อตนเองเป็นทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหาร ซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารที่จะทำได้ทันต่อสถานการณ์
"เราขอเขาซื้อคืน เพื่อความคล่องตัว เขาก็ให้ เราไม่ได้โกรธกัน เขาก็ยุ่ง เขาต้องโฟกัสธุรกิจของเขาหลังจากเจอเรื่องทัวร์ศูนย์เหรียญ เราต้องไว คือ 1+1 ไม่ใช่ 3 แล้ว เราก็แยกกันเดิน แยกกันโต เรายังเป็นพันธมิตร"
ทั้งนี้ กลุ่มศรีวัฒนประภาได้เข้ามาถือหุ้น AAV เมื่อกลางปี 59 สัดส่วน 39.82% และเมื่อขายออกไปแล้วเหลือสัดส่วน ราว 3.5% ขณะที่นายธรรศพลฐ์ มีสัดส่วนการถือหุ้น AAV เพิ่มเป็น 41.32% จากเดิม 5% โดยกลุ่มศรีวัฒนประภาเข้ามาถือหุ้น AAV ประมาณ 1 ปี 4 เดือน