นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บมจ.ปตท. (PTT) และว่าที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ เปิดเผยว่า ตนไม่ได้ถูกปตท.ฟ้องร้องในกรณีการลงทุนธุรกิจปาล์มในอินโดนีเซียตามที่มีกระแสข่าวแต่อย่างใด เพราะหากถูกฟ้องร้องก็คงไม่ผ่านคุณสมบัติจากคณะกรรมการสรรหาประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ซึ่งตามข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกัน คือได้เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ปตท.กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (PTTGE) ซึ่งทำธุรกิจปาล์มในอินโดนีเซีย เมื่อช่วงเดือนส.ค.51 -พ.ค.52 หลังจากที่เกิดปัญหาการลงทุนในธุรกิจดังกล่าวแล้ว
ทั้งนี้ เมื่อ ปตท.ได้ตรวจพบหลักฐานความผิดปกติในการลงทุนธุรกิจปาล์มน้ำมัน ของ PTTGE ต่อมาจึงได้มีการสอบสวนลงโทษทางวินัยผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง พร้อมส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาสอบสวน และยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง ซึ่งไม่ได้ฟ้องตน เป็นการฟ้องบุคคลอื่น โดยที่ผ่านมา ป.ป.ช. ได้เชิญตนเองไปให้ข้อมูล ในฐานะที่เคยบริหารงานเท่านั้น
ขณะที่ในวันนี้คณะกรรมการปตท. มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการสรรหาประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ได้เสนอชื่อ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ปตท. ให้ดำรงตาแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. คนใหม่ ต่อจากนายเทวินทร์ วงศ์วานิช โดยให้มีผลในวันที่ 31 ส.ค.61 และมีวาระการดำรงตำแหน่ง 1 ปี 8 เดือน นับจากวันที่ได้รับการแต่งตั้ง เนื่องจากนายชาญศิลป์ จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 12 พ.ค.63
นายชาญศิลป์ กล่าวว่า จะทำงานเพื่อต่อยอดแผนกลยุทธ์ของปตท. ตามโครงการ PTT 3D คือ Do now เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โดยการเพิ่มผลผลิต (Productivity Improvement) , Decide now เร่งตัดสินใจการลงทุนเพื่อการเติบโต โดยมุ่งเน้นความชำนาญในธุรกิจปัจจุบัน และ Design now ลงทุนใน New S-Curve เพื่อการเติบโตในระยะยาว ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของโลกตามทิศทางเทคโนโลยีใหม่ โดยจะทำหน้าที่ประสานงานให้เดินหน้า เกิดประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งสังคม สิ่งแวดล้อม ชุมชน ผู้ถือหุ้น ซึ่งจะต้องเตรียมบุคลากร ให้ทำงานต่อเนื่องให้เกิดการทำงานต่อเนื่อง เพื่อให้องค์กรเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
"แผน PTT 3D ในปัจจุบันจะต้องต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มด้านฟอสซิลทั้งน้ำมัน ปิโตรเครมี ก๊าซธรรมชาติ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องดูเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้น ต้องเน้นเรื่องพลังงานทดแทน ซึ่งส่วนเหล่านี้ ปตท.ร่วมกันดูทั้งองค์กรอยู่แล้ว ผมก็มาประสานต่อ และเดินหน้า ให้ ปตท.เป็นองค์กรที่สร้างความภาคภูมิใจให้คนไทยและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง"นายชาญศิลป์ กล่าว
อนึ่ง คดีการลงทุนธุรกิจปาล์มในอินโดนีเซียนั้น ปตท.ได้ฟ้องแพ่งกับอดีตผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่งที่พบว่ามีความผิดจากกรณีดังกล่าวเป็นมูลค่าราว 2 หมื่นล้านบาทตามความเสียหายที่เกิดขึ้น พร้อมกับยุติการลงทุนธุรกิจปาล์มดังกล่าวหลังจากได้เข้าไปลงทุนตั้งแต่ช่วงปี 49-50 พร้อมทั้งส่งเรื่องให้ป.ป.ช.สอบสวนต่อในช่วงต้นปี 56 เพื่อให้มีความโปร่งใสและชัดเจนมากขึ้น ซึ่งอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอก ขณะที่ในส่วนของปตท.พบว่ามีผู้ที่เกี่ยวข้องของเป็นบุคคลากรในกลุ่ม ปตท.ทั้งหมด 5 คน ซึ่งรวมถึงอดีตผู้บริหารระดับสูงคนที่ถูกฟ้องทางแพ่งด้วย โดยแต่ละบุคคลมีความผิดแตกต่างกันไป
ด้านนายสุพจน์ เหล่าสุอาภา ประธานคณะกรรมการ ของ PTTGE ชี้แจงว่าขณะนี้เรื่องดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. สำหรับประเด็นข่าวที่ปรากฏว่านายนิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ PTTGE และอดีตผู้บริหารของบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ซึ่งปัจจุบันถูกเลิกจ้างแล้วนั้น ได้ร้องเรียนไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้สอบสวนการกระทำของคณะกรรมการ PTTGE นั้น ยังไม่ทราบรายละเอียด เนื่องจาก ป.ป.ช. ยังไม่เคยแจ้งกรณีดังกล่าวให้ทราบ หรือ เรียกให้ทางบริษัทเข้าไปชี้แจงข้อเท็จจริงแต่อย่างใด
สำหรับข้อพิพาทที่เป็นคดีอาญาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโครงการปลูกปาล์มน้ำมันนั้น ขอชี้แจงเพิ่มเติมว่า นายนิพิฐ ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบุคคลหลายคน ซึ่งรวมถึงคณะกรรมการ PTTGE ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางรวม 5 คดี ซึ่งปัจจุบัน ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีอาญาทั้ง 5 คดีเป็นเรื่องเดียวกันกับคดีที่สำนักงาน ป.ป.ช. กำลังไต่สวน ศาลจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีทั้ง 5 คดีไว้ชั่วคราว เพื่อรอฟังผลการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช.