นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ (FPI) เปิดเผยว่า ทิศทางผลประกอบการไตรมาส 1/61 ยังไม่ดีนัก เนื่องจากยอดขายลดลงหลังจากที่บริษัทปรับขึ้นราคาสินค้าราว 5-10% เมื่อเดือน ม.ค.เพื่อให้มีอัตรากำไรสูงขึ้นจากไตรมาส 4/60 ที่ได้รับผลกระทบภาวะเงินบาทแข็งค่า โดยราคาสินค้าที่เปลี่ยนแปลงทำให้ลูกค้ายังไม่ยอมรับการขึ้นราคาสินค้ามากนัก อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ายอดขายจะกลับมาฟื้นตัวได้ในไตรมาส 2/61
ประกอบกับ บริษัทปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจในสภาวะแนวโน้มเงินบาทแข็งค่า โดยจะเน้นธุรกิจการรับจ้างผลิตสินค้า (OEM) มากขึ้นเนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีอัตรากำไรสูงกว่า พร้อมทั้งรุกโมเดลธุรกิจใหม่ในการให้คู่ค้าเช่าแม่พิมพ์เพื่อผลิตแทน ในสินค้ากลุ่มที่มีการแข่งขันสูงและมีอัตรากำไรต่ำ โดยตั้งเป้ารับรู้รายได้จากโมเดลนี้ 20 ล้านบาท ซึ่งจะรับรู้เข้ามาเป็นกำไร 20 ล้านบาทเช่นกัน เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งล่าสุดมีลูกค้าจากบราซิลแล้วจำนวน 10 เครื่อง คิดเป็นรายได้ราว 4 ล้านบาท
ส่วนแผนงานในปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 10% จากปีก่อนที่ 2.02 พันล้านบาท จากการมีคำสั่งซื้อเข้ามาใหม่ค่อนข้างมากจากงานต่าง ๆ ราว 20-50 ล้านบาทอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันบริษัทมีคำสั่งซื้อเข้ามาราว 700 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้เป็นรายได้ในปีนี้ 50% หรือราว 350 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีคำสั่งซื้อของโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศอินเดียที่บริษัทถือหุ้นอยู่ 45% อีกราว 200 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้เข้ามาเป็นกำไรด้วย
นอกจากนี้ บริษัทยังมีความสนใจในการลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนเพิ่มเติม ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาโรงไฟฟ้าประเภทโซลาร์ฟาร์ม คาดว่าจะมีความชัดเจนในปี 61 เพื่อรับรู้เป็นรายได้เพิ่มเติมในอนาคต และบริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจาทำธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มเติมอีก 3-4 ราย จากปัจจุบันคาดรับรู้ส่วนแบ่งกำไรในปี 61 จากการร่วมทุนในโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีอยู่ในปัจจุบัน
"ทิศทางกำไรปี 61 ยังต้องขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนเนื่องจากบริษัทเน้นการทำธุรกิจส่งออกกว่า 87% ซึ่งปีที่ผ่านมา USD อ่อนตัวลงมาแรงผิดคาดทำให้มีผลกระทบ บริษัทจึงต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในปีนี้"นายสมพล กล่าว
ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา FPI มีกำไรสุทธิ 204.23 ล้านบาท ลดลงจากระดับกำไร 285.67 ล้านบาทในปี 59 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาก เพราะรายได้หลักมาจากการส่งออกชิ้นส่วนไปต่างประเทศ ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้าเพิ่งจะเริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเข้ามาเพิ่มขึ้นในปีนี้ หลังจากที่โรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 7.5 เมกะวัตต์ (MW) ในจ.นราธิวาส จะรับรู้ฯได้เต็มปีหลังจากเริ่มเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) เมื่อปลายเดือนมิ.ย.60 ขณะที่โรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 1 เมกะวัตต์ ในอ.ลอง จ.แพร่ ซึ่งใช้เทคโนโลยีระบบผลิตก๊าซเชื้อเพลิงจากชีวมวล (Gasification) จะเริ่ม COD ต้นเดือน เม.ย.61