นายชาญชัย กงทองลักษณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทรีนีตี้ วัฒนา (TNITY) กล่าวว่า บล.ทรีนีตี้ เป็นบริษัทหลักทรัพย์แห่งแรกที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการบริการระบบลงทุน "มั่งคง & ว่องไว"?โดยมีทีมนักวิเคราะห์มืออาชีพของบริษัทคัดเลือกหุ้นให้ลูกค้าไม่เกิน 5 หลักทรัพย์ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง และผู้แนะนำการลงทุนของบริษัทจะทำการซื้อและขายหุ้นแทนลูกค้าได้ทันที โดยก่อนการซื้งและขายแต่ละครั้ง ระบบจะส่งข้อมูลเพื่อแจ้งเตือนไปยังลูกค้าผ่านช่องทางต่างๆ เช่น SMS, Line และอีเมลล์ เพื่อให้ลูกค้ายืนยันก่อนการซื้อทุกครั้ง
ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ทำการศึกษาถึงพฤติกรรมของนักลงทุนในตลาดหุ้น พบว่ามีนักลงทุนจำนวนมากที่มีความพร้อมในการลงทุน แต่ไม่มีเวลา และไม่มีโอกาสในการติดตามตลาดอย่างใกล้ชิด ทำให้นักลงทุนกลุ่มดังกล่าวเสียโอกาสในการลงทุน ส่งผลให้บริษัทมองว่าบริการ "มั่นคง & ว่องไว" จะมาช่วยตอบโจทย์นักลงทุนเหล่านี้ได้ดี โดย "มั่นคง" จะใช้กลยุทธ์คัดกรองหุ้นตามปัจจัยพื้นฐานหุ้นขนาดใหญ่ใน SET100 และตลาด mai เน้นลงทุนระยะกลางถึงยาว ขณะที่ "ว่องไว" จะใช้กลยุทธ์การคัดกรองหุ้นตามสัญญาณทางเทคนิค เน้นการลงทุนระยะสั้นถึงระยะกลาง
ทั้งนี้ ผู้สนใจลงทุนกับ "มั่นคง & ว่องไว" เพียงเปิดบัญชีเงินสด (Cash balance) กับบริษัท และมีเงินลงทุนขั้นต่ำที่ 300,000 บาท จะได้รับความสะดวกรวดเร็วเหมือนมีผู้ช่วยด้านการลงทุนตลอดเวลา โดยที่บริษัทตั้งเป้าในช่วง 3 ปี จะมีนักลงทุนที่ใช้บริการ "มั่นคง & ว่องไว"อยู่ที่ 500 ราย โดยมีเงินลงทุนรวมทั้งหมด 300-500 ล้านบาท
"บริการมั่งคง & ว่องไว เราไม่ได้คาดหวังผลในส่วนของมาร์เก็ตแชร์และรายได้ เพราะในแง่ของรายได้ค่าคอมมิชชั่นก็คงไม่เยอะมาก แต่เราเน้นไปที่การทำ Performance ให้กับลูกค้า และเราก็จะได้ในส่วนของ Performance sharing ซึ่งเรามีเป้าหมายที่ทำ Performance ให้ดีกว่าตลาดไม่ต่ำกว่า 20% พร้อมกับการทำธุรกิจที่ใช้ลูกค้าเป็นตัวตั้ง"นายชาญชัย กล่าว
นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยกลางปีนี้มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ร้อนแรง หรือเกิดปรากฎการณ์ "Mid-Year Rally" ดันดัชนีขึ้นไปทดสอบระดับ 1,900 จุด ในช่วงไตรมาส 3-4/61 โดยมีดัชนีเป้าหมายที่ 1,884 จุด ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของ Forward PE (x) ย้อนหลัง 3 ปี ที่ระดับ 15.5 เท่า และอยู่บนพื้นฐานที่กำไรต่อหุ้นของหุ้นของบริษัทจดทะเบียน (EPS) ของปี 62 เฉลี่ยที่ระดับ 121.5 บาท/หุ้น
ปัจจัยต่างประเทศที่เป็นแรงหนุนให้เกิด "Mid-Year Rally" จะมาจากการให้น้ำหนักกับการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ผ่านช่วงเวลาการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว คาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯอีก 3-4 ครั้งในช่วง 2 ปีนี้ จากที่ขึ้นมา 5 ครั้งในรอบ 15 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งจะเห็นได้จากวันนี้ที่ตลาดหุ้นไทยยังสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่าเมื่อคืนนี้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในช่วงต้น 63 และดอกเบี้ยของธนาคารญี่ปุ่นจะยังคงทรงตัวอยู่ที่ 0.5% ไปอีกระยะหนึ่ง หรือมากกว่า 5 ปี
ส่วนปัจจัยในประเทศยังคงมีทิศทางที่ดีซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นไทย เพราะกระแสเงินทุน (Fund Flow) ที่ไหลเข้าสู่เอเชียในช่วงนี้ โดยจะเห็นว่าทิศทาง Fund Flow ที่ไหลเข้ามาลงทุนในประเทศรอบนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเข้าซื้อหุ้นที่จะมีการจ่ายเงินปันผลที่ดี ซึ่งจะมีการทยอยจ่ายเงินปันผลในช่วงไตรมาส 2/61 ทำให้ปัจจัยการจ่ายเงินปันผลเป็นปัจจัยหนึ่งไนการดึงดูด Fund Flow เข้ามา
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนจะมืการแบ่งสัดส่วนของการลงทุนมาสู่ตลาดหุ้นมากขึ้น จากเดิมที่มีการเข้าซื้อในตลาดพันธบัตรมาค่อนข้างมากแล้ว และประเด็นการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน อาจจะนำไปสู่การขายพันธบัตรสหรัฐฯของธนาคารจีน ซึ่งนักลงทุนจะต้องระมัดระวัง เพราะเป็นปัจจัยที่สรมางความเสี่ยงต่อตลาดหุ้นทั่วโลก
นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า สำหรับสภาพคล่องในประเทศมองว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีหลังจากที่ภาครัฐอนุมัติมาตรการใช้งบประมาณกลางปี 61 วงเงินกว่า 1.5 แสนล้านบาทของกระทรวงการคลัง ส่งผลให้มีเงินสะพัดเข้ามาในระบบเพิ่มเติม ด้านแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจยังมีการขยายตัวที่ดี ภาพรวมของการส่งออกมีเสถียรภาพมากขึ้นและยังเติบโตได้ดี ราคาสินค้าสินค้าบางประเภทเริ่มฟื้นตัว เช่น ราคาข้าวที่ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว
ด้านแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 2/61 คาดว่าจะยังคงมีทิศทางที่ดี จากกระแสเงินทุนที่ไหลเข้าในช่วงก่อนการจ่ายเงินปันผล สภลพคล่องของระบบเพิ่มขึ้นจากการอนุมัติงบประมาณกลางปี 61 วงเงินกว่า 1.5 แสนล้านบาท ในส่วนของผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2/61 มองว่าจะมีผลการดำเนินงานที่ดีในบางกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์เศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้การส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นตาม และราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มปิโตรเคมีและน้ำมัน และกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ "แม้ว่าภาพรวมของการลงทุนจะมีมุมมองเป็นบวกต่อตลาดหุ้นไทย และมีโอกาสในการทำกำไรในตลาดหุ้นในขณะนี้ แต่ยังคงมีความเสี่ยงที่ต้องติดตามอยทางใกล้ชิด จึงต้องมีกลยุทธ์ในการเลือกลงทุนในหุ้นที่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและมีราคาที่เหมาะสม ในแง่ของราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชีและผลตอบต่อผู้ถือหุ้น"นายวิศิษฐ์ กล่าว