AOT มั่นใจผลงานงวด Q2/61 โตดีต่อเนื่อง Q1/61 เล็งสร้างสนามบินลำปาง-พังงาใช้งบลงทุนราว 1.1-1.2 แสนลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 22, 2018 13:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. คาดว่าผลประกอบการของบริษัทในไตรมาส 2/61 (ม.ค.-มี.ค.61) มีอัตราเติบโตที่ดีใกล้เคียงในไตรมาส 1/61 (ต.ค.-ธ.ค.60) ที่มีผลประกอบการดีมาก โดยมีกำไรสุทธิเติบโต 22.23% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มาที่ 6,219.52 ล้านบาท เนื่องจากจำนวนผู้โดยสาร และเที่ยวบินในไตรมาส 2/61 ยังเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 1/61

ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 1-ไตรมาส 2 งวดปี 61 เป็นช่วงฤดูท่องเที่ยว ซึ่งใช้ตารางบินฤดูหนาวตั้งแต่ต.ค.60-มี.ค.61 และพบว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศ และเที่ยวบินในเส้นทางระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

และยังคาดว่าจำนวนผู้โดยสารในช่วง 6 เดือนแรกของงวดปี 61 (ต.ค.60-มี.ค.61) จะเติบโตมากกว่า 10% เนื่องจากตัวเลขล่าสุด ตั้งแต่ 1 ต.ค.60 -19 มี.ค.61 จำนวนผู้โดยสารทั้ง 6 ท่าอากาศยานที่บริษัทบริหาร มีจำนวนรวม 67.4 ล้านคน เติบโต 10.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งเป็นจำนวนผู้โดยสารต่างประเทศ 38.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 15.8% ขณะที่จำนวนผู้โดยสารในประเทศมีอยู่ 28.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3.6%

โดย 3 ท่าอากาศยานที่มียอดผู้โดยสารมากที่สุด คือ ท่าอากาศยานดอนเมืองโต 10.6% ซึ่งมีจำนวนผู้โดยสารต่างประเทศโตถึง 31.2% แต่จำนวนผู้โดยสารในประเทศโตเพียง 0.6%, ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีจำนวนผู้โดยสาร โต 8.9% โดยมีจำนวนผู้โดยสารต่างประเทศโต 9.5% และผู้โดยสารในประเทศโต 6.1% และท่าอากาศยานภูเก็ต ยอดรวมโต 17% ซึ่งจำนวนผู้โดยสารต่างประเทศโต 24.7% ผู้โดยสารในประเทศโต 8.6% ทั้งนี้ 3 ท่าอากาศยาน คือ ภูเก็ต สุวรรณภูมิ และดอนเมือง มีสัดส่วนจำนวนผู้โดยสารรวมกันเป็น 90% ของจำนวนผู้โดยสารทั้งหมด

"ผลประกอบการในไตรมาส 2 ก็ยังน่าตกใจเหมือน ไตรมาส 1 เพราะดอนเมืองเราไม่คิดว่าจะโต แต่พอ ICAO ปลดธงแดง สายการบินที่มี slot จำกัดก็เปลี่ยนจากบินในประเทศไปบินเส้นทางต่างประเทศ โดยไตรมาส 1 มีเที่ยวบินต่างประเทศโต 26% ในประเทศโตแค่ 3.6-3.7% แต่ผู้โดยสารโตถึง 40% ซึ่งเราเก็บค่าสนามบิน 700 บาท/ราย ส่วนผู้โดยสารในประเทศโต 0.6% เก็บ 100 บาท/รายแสดงว่าเขาใช้เครื่องบินลำใหญ่มากขึ้น ในเส้นทางต่างประเทศ และในประเทศบางเส้น ในไตรมาส 2 คาดว่าจะใกล้เคียงกัน เพราะใช้ตารางบินเดียวกัน และทัวร์ศูนย์เหรียญไม่มีแล้ว ทำให้แอร์ไลน์จากจีนจะเข้ามาบิน แต่ตารางบินเต็ม ก็ไปบินช่วง off peak (ช่วงดึก) ทำให้ที่ดอนเมืองและสุวรรณภูมิ มีผู้โดยสารต่างประเทศสูงขึ้น"นายนิตินัย กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

ส่วนการเปิดประมูลหาเอกชนเข้ามาดำเนินการพื้นที่ร้านค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) และร้านค้าปลีกในท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น นายนิตินัยกล่าวว่า อาจจะเลื่อนเปิดประมูลจากเดิมคาดว่าไว้ในเดือนก.พ.-มี.ค.นี้ หลังจากมีหลายฝ่ายท้วงติงจึงได้นำข้อเสนอแนะเข้ามาพิจารณาร่างทีโออาร์ให้รอบคอบก่อนจะเปิดประมูลจริง และต้องประเมินมูลค่าโครงการมีมูลค่าเท่าใด ต้องเข้าเกณฑ์ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯหรือไม่

อย่างไรก็ดี ทอท.ยังคงกำหนดต้องได้ผู้ดำเนินการใหม่ภายในสิ้นปี 61 เพื่อให้เอกชนที่ได้รับการคัดเลือกได้มีเวลาเตรียมตัว 2 ปี โดยปัจจุบัน กลุ่มคิงเพาเวอร์เป็นผู้รับสัมปทานและจะสิ้นสุดในเดือน ก.ย.63 และปัจจุบัน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีผลตอบแทนจากพื้นที่ดิวตี้ฟรีสูงเป็นอันดับ 2 รองจากสนามบินอินชอน ซึ่งปัจจุบัน ทอท.ได้รับส่วนแบ่งรายได้ 20%ต่อปีซึ่งรับในอัตรานี้มา5-6 ปีแล้ว จากตอนเริ่มสัญญาได้ส่วนแบ่งรายได้ 15%

"ตอนนี้ให้ที่ปรึกษาดูรูปแบบการประมูลอยู่ เราจะทำให้รอบคอบจะได้ไม่ต้องมีเรื่องฟ้องร้อง เมื่อมีประเด็นงดก็ต้องเคลียร์ อย่างไรก็ดีตามกระบวนการคิดว่าน่าจะเปิดประมูลได้กลางปี 61 และน่าจะเซ็นสัญญาได้ หรืออย่างน้อยได้ตัวคนประมูลได้ก่อนสิ้นปีนี้"นายนิตินัยกล่าว

สำหรับประเด็นเปิดพื้นที่จุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรในสนามบิน (Pick up counter)นั้น ทอท.จะแยกการประมูลออกมา โดยได้ระบุชัดเจนในรายละเอียดของสัญญาว่า ผู้ที่ประมูลพื้นที่ได้จะต้องเปิดให้เอกชนรายอื่นสามารถเข้าไปใช้ได้ โดยเก็บค่าเช่าตามอัตราที่กำหนด

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT คาดว่า เตรียมจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทในเดือน เม.ย. หรือ พ.ค.นี้ เพื่อขออนุมัติการลงทุนท่าอากาศยานแห่งใหม่ 2 แห่ง ที่พังงา และ ลำปาง มูลค่าลงทุนประมาณ 1.1-1.2 แสนล้านบาท เพื่อขยายศักยภาพรองรับจำนวนผู้โดยสาร ซึ่งปัจจุบันท่าอากาศยานภูเก็ต และ ท่าอากาศยานเขียงใหม่แออัด

จากนี้จะมีการพิจารณาการรับโอนท่าอากาศยานจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) 2 แห่ง ซึ่งหากคณะกรรมการบริษัทอนุมัติ ก็จะต้องส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ก่อน ซึ่งคาดว่าการโอน 2 ท่าอากาศยานไปยังกรมธนารักษ์ แล้ว ทอท.จะเช่าจากกรมธนารักษ์ และจ่ายอัตราผลตอบแทนเดียวกับท่าอากาศยานสุวรรภูมิ

นายนิตินัย กล่าวว่า สำหรับเงินลงทุนในท่าอากาศยานใหม่จะมาจากกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่มีประมาณ 5 หมื่นล้านบาท/ปี ขณะที่ในช่วง 10 ปีนี้ มูลค่าลงทุน 2.2 แสนล้านบาท โดยบริษัทจะนำมาจาก EBITDA ในช่วง 3 ปีนี้(ปี 61-63) และยังมีเงินสดในมืออีก 6 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเพียงพอต่อการลงทุนในช่วง 10 ปีนี้ แต่สำหรับการลงทุนท่าอากาศยานใหม่ อีกกว่า 1 แสนล้านบาท หากช่วงไหนอาจจะต้องใช้เงินลงทุนสูงก็อาจจะกู้ในประเทศ เพื่อเสริมสภาพคล่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ