อดีตซีอีโอ DTAC โอดทำตลาดโทรคมนาคมในไทยยุ่งยากติดขัดระบบราชการซับซ้อน

ข่าวหุ้น-การเงิน Sunday March 25, 2018 18:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) เปิดใจหลังลาออกจากตำแหน่งดังงกล่าวเมื่อวันที่ 14 มี.ค.​ที่ผ่านมาว่า การบริหารงาน DTAC ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมผู้บริหารในช่วงเวลาสำคัญของการเริ่มต้นเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล เพื่อประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ โดยได้ทำงานร่วมกับคณะผู้บริหารและพนักงานอย่างใกล้ชิด

ที่ผ่านมา ตนเองทำงานกับเทเลนอร์กรุ๊ปมา 20 ปี และเข้ามาคุมตลาดไทยได้ 3 ปี สิ่งที่ทำให้ได้รู้คืออุตสาหกรรมโทรคมนาคมในประเทศไทยมีความเฉพาะตัวอย่างมาก และการแข่งขันกับคู่แข่งดุเดือดมาตลอด ไม่ใช่ตลาดที่เข้ามาหากำไรได้ง่ายๆ โดยสิ่งที่อยากฝากถึงซีอีโอ DTAC คนใหม่คือ ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้กับตลาดประเทศไทย ต้องประสานความสัมพันธ์กับหลายหน่วยงาน

"ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา DTAC ต้องบริหารความสัมพันธ์กับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งล้วนแต่เป็นหน่วยงานราชการ อย่างสำนักงานคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และรัฐวิสาหกิจทั้งสองรายคือ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม ซึ่งในท้ายที่สุดก็คาบเกี่ยวกับสำนักงานกฤษฎีกาและอัยการสูงสุดด้วย ดังนั้นการทำธุรกิจที่เกี่ยวกับดิจิทัลที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานในไทยนั้นไม่ง่ายเลย ยังมีความซับซ้อนหลายอย่าง ติดขัดเรื่องระเบียบราชการถึงแม้ว่ารัฐบาลอยากจะนำพาไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ก็ตาม" นายนอร์ลิ่ง กล่าว

สำหรับความร่วมมือกับ บมจ.ทีโอที ในการนำคลื่นย่าน 2300 เมกะเฮิรตซ์มาให้บริการซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบสัญญาโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นายนอร์ลิ่ง กล่าวว่า DTAC มีทีมงานที่เข้มแข็งทั้งทีมผู้บริหาร และพนักงานในทุกระดับ ดังนั้นมองว่า การลาออกในช่วงนี้ตนเองก็ตัดสินใจมาอย่างดีแล้ว และทีมงานที่มีอยู่จะบริหารงานได้ต่อเนื่อง แม้ DTAC จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในเดือน ก.ย.นี้ แต่ในเรื่องความคืบหน้าการร่วมเป็นพันธมิตรกับ บมจ.ทีโอที เพื่อพัฒนาคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 60 เมกะเฮิร์ต เพื่อให้บริการเทคโนโลยี 4GLTE นั้นมีความคืบหน้าอย่างมาก และน่าจะบรรลุข้อตกลงร่วมกันและเปิดให้บริการได้ในเร็วๆนี้ โดยความร่วมมือในการนำคลื่น2300 เมกะเฮิรตช์ น่าจะสำเร็จได้ก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 16 ก.ย.นี้ ซึ่งก็จะทำให้ DTAC มีคลื่นความถี่รวม 75 เมกะเฮิรตซ์ รวมกับคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ที่ประมูลจาก กสทช.ได้มา 15 เมกะเฮิรตซ์ ทำให้ DTAC หมดภาระความกังวลเรื่องความถี่ และเชื่อว่าจะสามารถเรียกความเชื่อมั่นของลูกค้ากลับมาได้

"มีสามสิ่งที่อยากฝากให้ซีอีโอคนใหม่มาช่วยสานงานต่อ ซึ่งตอนนี้เทเลนอร์กรุ๊ปได้เริ่มกระบวนการสรรหาแล้ว โดยสิ่งแรกที่อยากฝากคือ เมื่อได้คลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์มาให้บริการแล้ว จะต้องพยายามเปลี่ยนเกมการแข่งขันให้ได้และต้องทำให้ DTAC กลับมามีสถานะที่ได้เปรียบในอุตสาหกรรม ประเด็นต่อมาคือการดิจิไทล์ตลาดให้ก้าวเข้าสู่การเป็นดิจิทัลอย่างแท้จริง ทำให้องค์กร DTAC เป็นดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่น ทั้งการบริหารงาน การทำตลาด งานขาย รวมไปถึงงานบริการลูกค้า ซึ่งไม่ใช่เปลี่ยนด้วยเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่คนก็ต้องเปลี่ยนตัว ต้องเพิ่มทักษะให้แก่พนักงานและมีการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ ทั้งปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) แมชชีน เลิร์นนิ่งรวมไปถึงการใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้าที่ DTAC มี และประเด็นสุดท้ายคือ ต้องมีความคุ้มค่า (Best Value) ซึ่งสิ่งนี้เป็นจุดยืนที่เข้มแข็งของ DTAC มาโดยตลอด ดังนั้นจะต้องพยายามชูประเด็นนี้มานำเสนอต่อลูกค้าให้ได้ ในของที่เท่ากันราคาเท่ากัน ความรู้สึกของลูกค้า ต้องทำให้เขาเชื่อว่า เมื่ออยู่กับเราเขาจะคุ้มที่สุด" นายนอร์ลิ่ง กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ