โบรกเกอร์ แนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) หลังมองบวกจากการปรับโครงสร้างบริษัทในปีที่ผ่านมาเพื่อรองรับกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ ทั้ง พ.ร.บ. เช่าซื้อ, พ.ร.บ. ห้ามเรียกอัตราดอกเบี้ยเกินอัตรา โดยมีการย้ายสัญญาจากศรีสวัสดิ์มาทำที่ บง.ศรีสวัสดิ์ (BFIT) แทน ซึ่งการดำเนินงานของ BFIT อยู่ภายใต้ พ.ร.บ. สถาบันการเงิน ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องการคิดอัตราดอกเบี้ยเกินอัตราแน่นอน ขณะเดียวกันก็รุกแผนปล่อยกู้ผ่าน BFIT มากขึ้นในปีนี้ด้วย
ทั้งนี้ คาดว่าฐานสินเชื่อของ SAWAD ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) คาดผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาส 4/60 หลังเริ่มรับรู้รายได้ดอกเบี้ยของสัญญากู้ยืมที่ปล่อยผ่าน BFIT มากขึ้น นอกจากนั้นจะหันมามุ่งขยายธุรกิจในต่างประเทศอีกครั้งหลังผ่านพ้นช่วงปรับโครงสร้างธุรกิจเป็นกลุ่มธุรกิจการเงิน โดยการลงทุนในต่างประเทศ CLMV ก็จะเห็นผลมากขึ้นและเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตในระยะยาว
ราคาหุ้น SAWAD ช่วงบ่ายอยู่ที่ 61.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.25 บาท หรือ 0.41% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย เพิ่มขึ้น 0.24%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) ฟิลลิป (ประเทศไทย) ซื้อ 71 บัวหลวง ซื้อ 73 ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ ซื้อ 80 เออีซี ซื้อ 71 ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบีฯ ซื้อ 71 แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซื้อ 75 ทิสโก้ ถือ 65 เคทีบี (ประเทศไทย) ถือ 67
นักวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมา SAWAD ได้มีการปรับโครงสร้างบริษัทใหม่เพื่อที่จะเป็นการรองรับกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ทั้ง พ.ร.บ.เช่าซื้อ, พ.ร.บ.ห้ามเรียกอัตราดอกเบี้ยเกินอัตรา โดยได้มีการย้ายสัญญาจาก SAWAD มาทำที่ BFIT แทน ซึ่งการที่ BFIT อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.สถาบันการเงิน ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องการคิดอัตราดอกเบี้ยเกินอัตราแน่นอน ส่งผลให้ในปีที่ผ่านมาสินเชื่อของ SAWAD เติบโตได้เพียง 23.4% ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากทาง SAWAD นั้นรับค่าใช้จ่ายภาษีในการเปลี่ยนสัญญาแทนลูกค้า นอกจากนี้ยังทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในปีที่ผ่านมานั้นลดต่ำลงด้วย
ขณะที่ช่วงไตรมาส 1/61 จะยังมีลูกค้าบางส่วนที่ยังคงเหลือที่จะต้องทำสัญญาใหม่กับทาง BFIT อีกเล็กน้อย
สำหรับปีนี้ SAWAD กลับมาเน้นการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ทำให้คาดว่าปีนี้จะปล่อยสินเชื่อเติบโต 30% จากปีก่อน นอกจากนี้การปรับมาปล่อยกู้ผ่าน BFIT และปล่อยเป็นสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์บางส่วนในลูกค้ารายเดียวกันที่ต้องการวงเงินเพิ่ม จะช่วยให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในปีนี้กลับมาเพิ่มสูงขึ้นได้ โดยคงประมาณการกำไรของ SAWAD เติบโต 20.3% เป็น 3.2 พันล้านบาท จากปีก่อนที่มีกำไร 2.7 พันล้านบาท
บทวิเคราะห์ บล.เออีซี ระบุว่ายังมีมุมมองเชิงบวกต่อใน SAWAD จากผลของการลงทุนปรับโครงสร้างธุรกิจในปีก่อน เพื่อสร้างความชัดเจนในแนวทางการดำเนินธุรกิจที่เป็นไปตามกรอบกฎหมาย ประกอบกับคาดว่าฐานสินเชื่อของ SAWAD ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี และ NIM ที่คาดผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาส 4/60 หลังเริ่มรับรู้รายได้ดอกเบี้ยของสัญญากู้ยืมที่ปล่อยผ่าน BFIT มากขึ้น (ดอกเบี้ยสูงกว่าสัญญาเดิมที่อยู่ในรูปแบบสัญญาเช่าซื้อ)
อีกทั้งคาดว่า SAWAD จะหันมามุ่งขยายธุรกิจในต่างประเทศอีกครั้งหลังผ่านพ้นช่วงปรับโครงสร้างธุรกิจเป็นกลุ่มธุรกิจการเงิน ทำให้ยังคงคาดปีนี้ SAWAD จะมีกำไรสุทธิ 3.69 พันล้านบาท หรือเติบโต 38.4% และเพิ่มขึ้น 30.6% ในปี 62 ได้ตามประมาณการเดิม
ความชัดเจนในโครงสร้างธุรกิจช่วยขจัดความกังวลด้านกฎระเบียบออกไป บวกกับคาดผลดำเนินงานปี 61 จะมีทิศทางที่ดีขึ้น รวมถึงราคาหุ้นปัจจุบันยังคงมี Upside จากมูลค่าพื้นฐานเดิมปี 61 จึงยังคงคำแนะนำ "ซื้อ" ที่ราคาเป้าหมาย 71 บาท
ด้าน บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า เหตุผลที่ SAWAD ได้ปรับโครงสร้างบริษัทเพราะสินเชื่อสัญญาเงินกู้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งสามารถคิดดอกเบี้ยได้สูงกว่า 15% แต่เกณฑ์ของสัญญาเช่าซื้อจะถูกจำกัดอัตราดอกเบี้ยไว้ไม่เกิน 15% ดังนั้น SAWAD จึงพยายามที่จะเติบโตในส่วนของสินเชื่อสัญญาเงินกู้ที่ดำเนินการผ่าน BFIT และ BFIT ก็จะไม่ถูกกระทบจากเกณฑ์ใหม่ที่จะใช้สำหรับสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ซึ่งกำลังจะออกมา
หลังจากที่ SAWAD ปรับโครงสร้างธุรกิจเรียบร้อยแล้ว ในปีนี้ SAWAD คาดว่าสินเชื่อจะขยายตัวได้ 20-30% โดยเน้นที่ BFIT ซึ่งไม่ถูกกระทบจากเกณฑ์ใหม่ สำหรับสินเชื่อรถจักรยานยนต์ที่ดำเนินการผ่าน SAWAD จะเติบโตราว 15% และจะรักษา Yield ที่สูงด้วยการให้ลูกค้าทำสัญญาสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ซึ่งมีเพดานอัตราดอกเบี้ยสูงที่ 36% ด้วย
อย่างไรก็ดี ผลประกอบการไตรมาส 1/61 จะยังขยายตัวไม่มากเพราะยังอยู่ในกระบวนการปรับโครงสร้างธุรกิจ แต่คาดว่าจะเห็นชัดเจนในไตรมาส 4/61 เป็นต้นไป สำหรับสาขาใหม่ คาดว่าจะเปิด 200-300 แห่งในปีนี้ จากปัจจุบันที่มีอยู่ 2,400 แห่งทั่วประเทศ และมีแผนซื้อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มาบริหารราว 2-3 พันล้านบาท ส่วนธุรกิจต่างประเทศ หลักๆ ซึ่งอยู่ในเมียนมา คาดว่าสินเชื่อจะเพิ่มจาก 500 ล้านบาทในสิ้นปี 60 เป็น 1 พันล้านบาทในสิ้นปี 61