นายทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทีวี ไดเร็ค (TVD) เปิดเผยว่า บริษัทรุกขยายธุรกิจไปยังทีวีดิจิทัล ล่าสุดได้เซ็นสัญญาเป็นผู้ร่วมผลิตรายการช่องสปริงนิวส์ เป็นระยะเวลา 4 ปี เพื่อร่วมมือกับทางสถานีวางแผนเพิ่มสัดส่วนผังรายการแนะนำสินค้า ซึ่งจะมีจำนวนกว่า 7-8 รายการ คาดว่าจะสามารถเห็นความชัดเจนในรายละเอียดของผังรายการและงบลงทุนได้ภายในสิ้นเดือนมี.ค.นี้
การร่วมดำเนินธุรกิจในครั้งนี้ จะส่งผลดีให้บริษัทมีช่วงเวลาโฆษณาแนะนำสินค้าทางช่องสปริงนิวส์เพิ่มขึ้น และยังสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายลง เมื่อเทียบกับการซื้อเวลาโฆษณาโดยตรงจากทางสถานีแบบเดิม หลังจากเริ่มผลิตรายการแนะนำสินค้าผ่านช่องสปริงนิวส์อย่างเป็นทางการแล้ว บริษัทคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 10-20% ของรายได้รวม ซึ่งยังไม่ได้นับรวมกับเป้าหมายรายได้ที่ตั้งเป้าไว้จะเติบโต 17% มาที่ 3.99 พันล้านบาทในปีนี้
นอกจากนี้บริษัทก็อยู่ระหว่างเจรจากับช่องทีวีดิจิทัล เพื่อร่วมผลิตรายการกับช่องอื่น ๆ เช่นเดียวกันกับช่องสปริงนิวส์อีก 2 ราย คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในปีนี้ แต่อย่างไรก็ตามบริษัทก็จะยังคงใช้สื่อโฆษณาผ่านทางทีวีดิจิทัลช่องอื่น ๆ เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมาด้วย เพื่อกระตุ้นการขายสินค้าอย่างเต็มที่ โดยปีนี้วางงบลงทุนด้านมีเดียไว้ราว 700 ล้านบาท
สำหรับกลยุทธ์การดำเนินงานในปี 61 บริษัทได้ปรับโมเดลธุรกิจใหม่ จาก Multi-Screen หรือการจำหน่ายสินค้าและบริการผ่านช่องทางการตลาดที่หลากหลาย มาสู่โมเดลใหม่ Omni Channel ที่เป็นการเชื่อมโยงช่องทางการขายสินค้าแบบออฟไลน์และออนไลน์ ทั้ง 3 ช่องทางของบริษัท ได้แก่ ทีวี (โฮม ช็อปปิ้ง) ,ร้านค้าปลีก TV Direct Showcase และช่องทางออนไลน์ เพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพซึ่งกันและกันและตอบสนองพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยบริษัทมีแผนขยายร้านค้าปลีก TV Direct Showcase เพิ่มอีก 15 สาขา รวมเป็นเกือบ 100 สาขาภายในสิ้นปีนี้ ขณะเดียวกันจะพัฒนาระบบซอฟท์แวร์ ที่ใช้การบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมโยงข้อมูลและสนับสนุนการให้บริการแก่ลูกค้าที่ดียิ่งขึ้น
ขณะที่กลุ่มทีวี ไดเร็ค ยังได้ปรับโครงสร้างการทำงานใหม่เหลือ 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มจัดซื้อ ,การตลาด (ดูแลมีเดีย) ,Omni Channel และกลุ่มปฎิบัติการ ซึ่งจะทำให้บริษัทมีความคล่องตัวในการทำงานและยังเป็นการลดส่วนงานที่ซ้ำซ้อนอีกด้วย
นายทรงพล กล่าวว่า ส่วนการลงทุนในรูปแบบอื่น ๆ ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเจรจา เพื่อเข้าลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับฟินเทค จำนวน 2-3 ราย ที่อยู่ในประเทศไทย ,เกาหลี และไต้หวัน คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในช่วง 2-3 เดือนนี้ โดยเบื้องต้นบริษัทจะเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 20-25%
ทั้งนี้ จะมีแหล่งเงินลงทุนมาจากการแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ (วอร์แรนต์) ราว 160 ล้านบาท หลังจากที่บริษัทจะออกวอร์แรนต์จัดสรรให้ฟรีกับผู้ถือหุ้นเดิม โดยวอร์แรนต์ชุดใหม่คาดว่าจะเข้าซื้อขายในวันที่ 30 เม.ย.61 และมีกำหนดใช้สิทธิครั้งแรกได้ในวันที่ 1 มิ.ย.61 โดยเงินที่ได้จะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และลงทุนธุรกิจสตาร์ทอัพ รวมถึงการขยายร้านค้าปลีก