นายธีรวัต อมรธาตรี กรรมการผู้จัดการ บมจ.บางกอกชีทเม็ททัล (BM) เปิดเผยว่า ในปี 61 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโตที่ระดับ 10-20% จากยอดคำสั่งซื้อสินค้าประเภทรางและท่อร้อยสายไฟที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการต่างๆ รวมถึงคำสั่งผลิตตู้ไฟฟ้า และตู้สื่อสาร
นอกจากนี้ บริษัทคาดว่าคำสั่งผลิตแม่พิมพ์สำหรับโมเดลรถเกี่ยวข้าว และโครงรถตัดอ้อย และคำสั่งผลิตชิ้นส่วนโลหะสำหรับเครื่องจักรกลการเกษตรจะมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการของภาคเกษตรกรรม และที่สำคัญการเข้ามาถือหุ้นบริษัทฯ ของ NITTO KOGYO CORPORATION หรือ "NITTO" ผู้ผลิต และจัดจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า และอุปกรณ์เชิงกลจากประเทศญี่ปุ่น จะช่วยเสริมความแข็งแกร่ง และเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจ รวมถึงเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่มเติมได้อีกด้วย
ในปีนี้บริษัทยังคงเดินหน้าในการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องทั้งการเติบโตของธุรกิจเดิม จากการขยายโรงงานหลังที่ 5 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างในพื้นที่ตรงข้ามกับสำนักงานใหญ่ โดยใช้แหล่งเงินทุนจากการระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ในปี 59
โดยบริษัทคาดว่าจะดำเนินการสั่งซื้อเครื่องจักร และติดตั้งได้ภายในไตรมาส 1/61 และติดตั้งไลน์พ่นสีใหม่ เพื่อเริ่มดำเนินการผลิตได้ภายในไตรมาส 3/61รวมการพัฒนาเทคโนโลยีในการบริหารงาน และภาคของการผลิตเพื่อยกระดับมาตรฐานของสินค้า และการบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
ส่วนการเติบโตในอีกทางหนึ่งจะมาจากการเข้าร่วมลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ และขยายการเติบโตต่อยอดจากธุรกิจหลัก ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในระหว่างการมองหาพันธมิตรทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ล่าสุด คณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้เข้าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท เอ็ม อี ซี ที จำกัด (MECT) ผู้ให้บริการรับเหมาติดตั้งระบบไฟฟ้า-สื่อสาร ระบบปรับอากาศ ระบบสุขาภิบาล และระบบป้องกันอัคคีภัย จำนวน 391,250 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 20% ของจำนวนหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้วของ MECT ภายหลังการทำรายการ ในราคาซื้อขายหุ้นละ 388.86 บาท มูลค่าที่ตราไว้ 100 บาทต่อหุ้น รวมมูลค่าลงทุน 152.14 ล้านบาท
MECT ถือว่าเป็นบริษัทที่มีความแข็งแกร่งด้านงานระบบ มีวิศวกร และทีมงานที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ ในการให้คำปรึกษา ให้บริการแก่ลูกค้า ซึ่งสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกันตามกลุ่มอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้งานระบบไฟฟ้า-สื่อสาร ระบบปรับอากาศ ระบบสุขาภิบาล และระบบป้องกันอัคคีภัย เป็นระบบที่สำคัญสำหรับทุกภาคอุตสาหกรรม ทุกธุรกิจที่ตั้งใหม่ต้องมีการวางระบบดังกล่าว ทำให้ธุรกิจของ MECT มีความยั่งยืน ต่อเนื่อง
หลังจากการเข้าซื้อหุ้นของ MECT บริษัทจะได้รับประโยชน์จากเครือข่ายฐานลูกค้าของ MECT ซึ่งเป็นกลุ่มผู้รับเหมาที่มีความต้องการใช้สินค้าที่บริษัทฯ ผลิต และจำหน่าย เช่น ราง และท่อร้อยสายไฟฟ้า ตู้โลหะ เป็นต้น และยังเป็นการขยายธุรกิจไปยังประเภทธุรกิจใกล้เคียง เพื่อเพิ่มรายได้ของบริษัท รวมถึงการได้รับผลตอบแทนในรูปเงินปันผลจากกำไรสุทธิของ MECT อีกด้วย
"เราคาดว่ารายได้ในปี 61 จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากปริมาณงานในกลุ่มของผู้รับเหมาที่เพิ่มสูงขึ้น ตามโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ด้านโครงการการก่อสร้างโรงงานใหม่หลังที่ 5 จะก่อสร้างแล้วเสร็จ และเริ่มดำเนินการผลิตได้ตามกำหนดที่ได้วางไว้ โดยนอกจากการเข้าลงทุนใน MECT แล้วเรายังคงมองหาความเป็นไปได้ในการขยายธุรกิจร่วมกับพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อการต่อยอดธุรกิจหลักของเรา และเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้ในอนาคตอีกด้วย" นายธีรวัต กล่าว