SCC ศึกษาลงทุนในพื้นที่ EEC เริ่มจากธุรกิจเดิม พร้อมเดินหน้าทุ่มงบวิจัย-พัฒนาต่อเนื่อง

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 28, 2018 17:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) หรือเอสซีจี เปิดเผยในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 61 ว่า การศึกษาลงทุนใหม่ของกลุ่มเอสซีจีในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เบื้องต้นจะเป็นการลงทุนในธุรกิจเดิมที่มีอยู่ ซึ่งจะเป็นลักษณะของกลุ่มอุตสาหกรรมเบา แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ในขณะนี้

"การลงทุนใน EEC ยังไม่อยู่ในช่วงเวลาที่จะเปิดเผย หลักๆเป็นการคงลงทุนในธุรกิจเดิมที่มีอยู่ แต่คงจะไม่เป็นการลงทุนในธุรกิจหนักมากนัก เพราะนโยบายรัฐบาลเป็นการลงทุนลักษณะ light industry เราก็คงไปแบบนั้น เพราะเทคโนโลยีก็ไปทางนั้น ส่วนการลงทุนรถไฟทางคู่ หรือถนนยกระดับ คงไม่ใช่สิ่งที่เราชำนาญ เราไม่ลงทุน"นายรุ่งโรจน์ กล่าว

นายรุ่งโรจน์ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจของเอสซีจีนั้น ฝ่ายจัดการยังให้ความสนใจในเรื่องความสามารถในการแข่งขัน และการเติบโตของธุรกิจ โดยในส่วนธุรกิจเคมีภัณฑ์ระยะยาวยังเป็นธุรกิจที่แข่งขันได้ในตลาดโลก สิ่งที่ทำได้คือการทำการผลิต การตลาด ให้สามารถแข่งขันได้ทั้งในตลาดภูมิภาคและตลาดโลก

ขณะที่ธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างในอาเซียนปัจจุบันมีการแข่งขันที่รุนแรง จากปริมาณการผลิตที่มีมากกว่าความต้องการ ซึ่งคงต้องใช้เวลาระยะหนึ่งเพราะจากผลการศึกษายังพบว่าตลาดอาเซียนยังมีการเติบโตของซีเมนต์สูง จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และที่อยู่อาศัยที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ธุรกิจยังสามารถเติบโตได้ในระยะยาว

ในตลาดไทย ความต้องการใช้ซีเมนต์ในปี 59 ติดลบ 2% และปี 60 ติดลบ 5% ขณะที่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมากำลังการผลิตในไทยเพิ่มขึ้น 7-8% ทำให้การแข่งขันสูงขึ้น ซึ่งคงต้องให้เวลาการลงทุนจากภาครัฐที่มีเข้ามาต่อเนื่อง ก็เชื่อว่าจะทำให้เกิดความต้องการใช้สินค้าและการลงทุนของภาคเอกชนตามมา ซึ่งจะช่วยดูดซับกำลังการผลิตส่วนเกินได้

ตลาดอินโดนีเซีย ก็ยังคงมีการแข่งขันสูงทั้งในธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง โดยความต้องการซีเมนต์ในอินโดนีเซียมี 60 ล้านตัน/ปี ขณะที่มีกำลังการผลิต 110 ล้านตัน/ปี ซึ่งคาดว่าตลาดในอินโดนีเซียคงต้องใช้เวลา 5 ปีจะมีทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนตลาดเซรามิกส์นอกจากจะได้รับผลกระทบจากความต้องการใช้ที่มีเพียงครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตแล้ว ยังได้รับผลกระทบจากสินค้าจากจีนที่เข้ามาแข่งขันด้วย ทำให้คาดว่าตลาดเซรามิกส์คงต้องใช้เวลายาวนานกว่าซีเมนต์จึงจะมีทิศทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามในส่วนของเอสซีจีก็จะพยายามลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาขาดทุนของธุรกิจซีเมนต์และเซรามิกส์ในอินโดนีเซีย

สำหรับธุรกิจบรรจุภัณฑ์ของเอสซีจี ในระดับภูมิภาคก็จะลงทุนเรื่องการขยายตลาดและการให้บริการใหม่ ๆ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ขยายการลงทุนจากกลุ่มบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบอ่อนมายังบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบแข็งเพิ่มขึ้น รวมถึงการเริ่มป้อนสินค้าบรรจุภัณฑ์เข้าสู่ตลาด E-commerce มากขึ้นด้วย

"ฝ่ายจัดการเราให้ความสนใจ คือความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตของธุรกิจ เรามองว่าธุรกิจที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง มีการเติบโตเหมาะสมเป็นสิ่งที่ฝ่ายจัดการทำงานได้ ส่วนเรื่องราคาหุ้นเราเชื่อว่าในระยะยาวแล้ว ถ้าทำทั้ง 2 ปัจจัยนี้ได้ดี ราคาหุ้นก็จะเป็นสิ่งซึ่งนักลงทุนก็คงจะให้ราคาตรงนั้น ถ้าทำไม่ได้ก็คงไม่ให้...เรื่องของหุ้นเป็นเรื่องที่เราให้ความสนใจ แต่ต้องยอมรับว่าบางเรื่องเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ บางเรื่องควบคุมไม่ได้ เรื่องที่ควบคุมไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับ Sentiment หรือความรู้สึกเกี่ยวกับการลงทุน หรือสภาพตลาดหุ้นในช่วงนั้น ๆ แต่เราจะพยายามดูตรงนี้ให้ดีที่สุด"นายรุ่งโรจน์ กล่าวตอบผู้ถือหุ้นกรณีที่ราคาหุ้น SCC ในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้สัมพันธ์กับการขึ้นของดัชนีหุ้นไทย

สำหรับกรณีที่สหรัฐฯเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ซึ่งสินค้าของจีนที่ตกเป็นเป้าหมาย เป็นสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยีที่จีนมีข้อได้เปรียบเหนือสหรัฐฯนั้น นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวกระทบต่อเอสซีจีไม่มาก เพราะสินค้าเป้าหมายดังกล่าวไม่เกี่ยวกับเอสซีจี

ขณะที่กระแสเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (DisruptiveTechnology) อาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคโดยตรงอย่างในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ซึ่งจะได้รับผลกระทบทั้งห่วงโซ่ธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทจับตาดูอยู่เช่นกัน รวมถึงในส่วนธุรกิจเคมีภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ที่แม้จะไม่ได้รับผลกระทบมาก แต่ก็พร้อมที่จะนำเทคโนโลยีนั้นมาประกอบการศึกษาเพื่อให้มีแผนงานและการลงทุนที่ชัดเจนมากขึ้น

นอกจากนี้เอสซีจีก็จะยังมุ่งเน้นงานวิจัยและพัฒนา (R&D) และเพิ่มงบลงทุนในส่วนนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่าจะส่งผลกลับมาในแง่ของกำไรและยอดขายที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

สำหรับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้นในปีที่ผ่านมาเอสซีจีได้รับผลกระทบราว 5-6 พันล้านบาท และตั้งแต่ต้นปีนี้ค่าเงินบาทก็ยังแข็งค่าอยู่มาก เอสซีจีก็ได้วางแผนที่จะพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพให้สามารถแข่งขันได้แม้ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นแบบนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ