มล.ณัฏฐ์ชัญญา ทวีวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า กลยุทธ์ของธนาคารเน้นขยายฐานลูกค้าที่ทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่ยังน้อยอยู่เมื่อเทียบกับกลุ่มลูกค้าหน่วยงานภาครัฐ และ บริษัทเอกชนที่ทำการค้าแค่ในประเทศ
โดย KTB จะเข้าไปจับกลุ่มลูกค้าใน CLMV เนื่องจากเป็นยุทธศาสตร์ของภาครัฐที่ต้องการขยายธุรกิจไปในประเทศเพื่อนบ้านทำให้ธนาคารมีส่วนร่วมในการผลักดันการค้าในภูมิภาคมากขึ้น โดยฐานลูกค้าที่ทำ Cash management มีอยู่จำนวน 6-7 หมื่นราย แต่เป็นลูกค้าที่ Active จำนวน 2 หมื่นราย
ประกอบกับ ธนาคารจะพัฒนาระบบที่เกี่ยวกับดิจิทัลมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันภาครัฐส่งเสริมให้สังคมไทยก้าวสู่สังคมไร้เงินสด ซึ่งธนาคารผลักดันดิจิทัลแพลทฟอร์ม การลงทุนด้านบล็อคเชน เพื่อพัฒนาการโอน ถอน จ่าย ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลูกค้าสามารถใช้บริการผ่านโมบายแอพพลิเคชั่น
"ปัจจุบันธนาคารอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรรายอื่นเพิ่มเติม 3-4 ราย ซึ่งคงไม่เห็นในปีนี้ เพราะแต่ละรายเพิ่งเริ่มคุย ต้องใช้เวลาในการพัฒนาระบบร่วมกัน แต่จะคำนึงถึงความสะดวกของลูกค้าเป็นหลัก"มล.ณัฏฐ์ชัญญา กล่าว
สำหรับวันนี้ KTB ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่งตั้ง บริษัท ห้างเซ็นทรัล ดีพาทเมนท์สโตร์ จำกัด เป็นตัวแทนชำระเงิน (Banking Agent) เพื่อขยายช่องทางบริการรับชำระค่าปรับจราจรผ่านเคาน์เตอร์ของ CenPay จำนวน 8,000 จุดทั่วประเทศ อำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ได้รับใบสั่งแบบไม่เรียกเก็บใบขับขี่ เริ่มให้บริการ 2 เม.ย.นี้
นายมนตรี สิทธิญาวณิชย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ห้างเซ็นทรัล ดีพาทเมนท์สโตร์ จำกัด กล่าวว่า CENTRAL Group ได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนชำระเงิน (Banking Agent) ค่าปรับจราจรผ่านเคาน์เตอร์ของ CenPay ในเครือ CENTRAL Group ทั้งหมดกว่า 8 พันจุดทั่วประเทศ โดย CENTRAL Group ถือเป็น Non Bank กลุ่ม Retail เจ้าแรกที่เริ่มให้บริการรับชำระค่าปรับจราจร โดยคิดค่าบริการ 20 บาท/รายการ และ ในอนาคตจะพิจารณาปรับลดค่าบริการเพื่อให้แข่งขันกับผู้ให้บริการรายอื่นได้
ขณะที่บริษัทมีฐานลูกค้าที่ถือบัตรสมาชิก เดอะวัน การ์ด 14-15 ล้านคน โดยแบ่งเป็นลูกค้าที่มีการใช้สม่ำเสมอ 10 ล้านคน ซึ่งปัจจุบันยอดการใช้บริการชำระบิลผ่าน CenPay อยู่ที่ 3 ล้านรายการ/เดือน ยอดเติมเงิน 2 ล้านรายการ/เดือน โดยการรับชำระจ่ายค่าปรับจะมาหนุนยอดการชำระบิลเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสถิติการชำระค่าปรับเฉลี่ยทุกช่องทางอยู่ที่ 1 ล้านรายการ/เดือน
"ตอนนี้แบงก์ลดค่าธรรมเนียมการโอน และ ชำระค่าบริการต่างๆ ลง ทำให้ทางเราต้องปรับตัว พัฒนาแพลทฟอร์มดิจิทัลเข้ามาเสริมเพื่อสามารถแข่งกับผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดได้ และ เข้ากับเทรนผู้บริโภคที่ใช้ช่องทางผ่านสาขามาเป็นดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งตอนนี้กำลังจะเปิดตัวดิจิทัลแพลทฟอร์มของ CenPay ในเร็วๆนี้ โดยค่าธรรมเนียมยังคิดอยู่ 7 บาท/รายการ แต่สมาชิกจะเหลือ 5 บาท/รายการ"นายมนตรี กล่าว