นายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ (JWD) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 61 จะเติบโต 10% จากปีก่อนที่มีรายได้ 2,963 ล้านบาท โดยจะมีสัดส่วนรายได้มาจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 15% จากปีก่อนที่อยู่ในระดบ 9%
บริษัทวางกลยุทธ์การดำเนินปีนี้ไว้ 4 ส่วน ที่จะขับเคลื่อนธุรกิจ ประกอบด้วย 1.Network หรือการขยายเครือข่ายธุรกิจโลจิสติกส์ให้ครบทั้งซัพพลายเชนและครบทุกโหมดการขนส่ง 2.การจัดตั้ง Operation Excellence Team เพื่อพัฒนาบริการโลจิสติกส์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกบริษัทในเครือทั้งในและต่างประเทศ 3.ระบบ IT โดยจะยกระดับเทคโนโลยีด้านไอทีเพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการโลจิสติกส์ที่สามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าในยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 4. Human Resource โดยการเสริมทีมงานและการพัฒนาบุคลากรเพื่อพัฒนาองค์กรสู่การเป็น Employer of Choice หรือองค์กรในฝัน ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ ได้บุคลากรที่มีความสามารถและพรสวรรค์เข้ามาร่วมงาน
นายชวนินทร์ กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในภูมิภาค ยังมีแนวโน้มการเติบโตอีกมาก บริษัทจึงตั้งเป้าขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มเติมอีก 2 ประเทศในปีนี้ จากปัจจุบันที่มีฐานธุรกิจโลจิสติกส์ใน 5 ประเทศแล้ว คือ ลาว กัมพูชา พม่า อินโดนีเซีย และไทย
สำหรับกลุ่มอาหารและห้องเย็นซึ่งตลาดกำลังเติบโตนั้น บริษัทมีแผนเปิดให้บริการคลังห้องเย็นเพิ่มเติมในเวียดนามไตรมาส 2/61 และมีแผนขยายการลงทุนห้องเย็นเพิ่มเติมในกรุงจาการ์ต้าและเมืองสุราบายาของอินโดนีเซียภายในปีนี้ หลังจากเมื่อปลายปีที่ผ่านมา JWD ร่วมมือกับกลุ่ม Samudera สายการเดินเรือรายใหญ่จากอินโดนีเซียจัดตั้งบริษัทร่วมทุนและเข้าซื้อหุ้น 67% ในบริษัท Adib Cold Logistics หรือ ACL ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจห้องเย็นและขนส่งสินค้าในเมืองจาการ์ต้า
ขณะที่ธุรกิจในกลุ่ม CLM ที่บริษัทได้เปิดดำเนินการไปก่อนหน้านี้ ก็มีแผนจะขยายการลงทุนเพิ่มเติมในบริษัทท้องถิ่นขนาดใหญ่เกี่ยวกับการให้บริการโลจิสติกส์ภาคพื้นดิน (In-Land Logistics) เช่น คลังและลานวางตู้สินค้า ท่าเรือบก (Dry Port) การขนส่งและกระจายสินค้าในประเทศ ภายในต้นไตรมาส 2/61
นายชวนินทร์ กล่าวอีกว่า บริษัทยังคงมองโอกาสขยายเครือข่ายโลจิสติกส์ในไทยและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อขยายการให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางอากาศ (Air Freight) และทางเรือ (Sea Freight) เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งให้ครบทุกรูปแบบ ทั้งทางบก ทางเรือ ทางอากาศและทางราง (Multimodal Transport)
ด้านธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ในประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการเป็นฐานการผลิตสินค้าในภาคอุตสาหกรรมและศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งนโยบายการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC ของรัฐบาล ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจหลักทุกกลุ่ม บริษัทมีแผนลงทุนเพิ่มเติมเพื่อขยายจำนวนรถ จำนวนเที่ยวให้บริการ พื้นที่การให้บริการการขนส่งและกระจายสินค้าให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นทั้งภายในประเทศและขนส่งข้ามแดน รอบรับการขยายตัวของธุรกิจขนส่งสินค้า
โดยธุรกิจศูนย์กระจายสินค้าเคมีภัณฑ์ (JCS) อยู่ระหว่างการติดตั้งชั้นวางเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มพื้นที่จัดเก็บสินค้าได้อีกกว่า 1.5 เท่า รวมถึงอยู่ระหว่างลงทุน Self-Storage หรือห้องเก็บของให้เช่าส่วนตัวในย่านใจกลางเมืองอีก 2 แห่งในทำเลสามย่านและสาทรเพื่อขยายฐานลูกค้ากลุ่ม B2C
นายชวนินท์ กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทตั้งงบลงทุนรวมในปี 61 ประมาณกว่า 2,500 ล้านบาท เพื่อขยายการลงทุนใหม่และขยายธุรกิจที่ดำเนินการในปัจจุบัน ซึ่งล่าสุด JWD ได้เซ็นสัญญาซื้อขายหุ้นกับ CSLF ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศไต้หวันที่ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านอาหาร (Food Service) ทั้งผู้ผลิต ตัวแทนนำเข้าและตัวแทนจัดจำหน่าย โดยปีนี้ตั้งเป้าเติบโตไม่ต่ำกว่า 15% จากปี 60 ที่มีรายได้ประมาณ 589 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิประมาณ 20.7 ล้านบาท
JWD จะเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 60% ใน CSLF ใช้เงินลงทุน 160 ล้านบาท เพื่อรุกสู่การจัดการซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมอาหารตั้งแต่ต้นทาง ซึ่ง CSLF มีความแข็งแกร่งด้านการทำ food service จากฐานซัพพลายเออร์อาหารที่มีอยู่ทั่วโลก รวมถึงเชนธุรกิจร้านอาหารและร้านค้าปลีกอาหาร สามารถขยายตลาดสำหรับฐานลูกค้าทั้งในไทยและอาเซียน โดยอาศัย JWD เป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์และฮับในการกระจายสินค้าภายในภูมิภาคอาเซียน (Multi-Country Consolidation) คาดว่าจะสามารถชำระเงินและโอนหุ้นเสร็จภายในเดือนเม.ย.นี้
บริษัทยังอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 3 ราย เพื่อเข้าซื้อกิจการที่เกี่ยวข้องกัน ได้แก่ ธุรกิจห้องเย็น และพื้นที่คลังสินค้าในเวียดนาม ,ธุรกิจขนส่งทางบกในไทย และธุรกิจขนส่งทางอากาศและทางเรือที่ฮ่องกงและสิงคโปร์ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนไตรมาสละ 1 ดีลย ซึ่งบริษัทคาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 1,700 ล้านบาท หรือ 70% ของงบลงทุนรวม
ปัจจุบันบริษัทถือว่ามีความพร้อมด้านฐานะการเงินหลังจากเมื่อปลายปีที่ผ่านมาได้ระดมทุนโดยการขายสินทรัพย์ให้กองทรัสต์ AIMIRT กว่า 1,000 ล้านบาท ขณะที่ในปีนี้ก็มีแผนระดมทุนเพิ่มเติมโดยจะนำห้องเย็นในย่านสุวินทวงศ์อีก 2,800 ตารางเมตร มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท เสนอขายให้แก่กองทรัสต์เพิ่มเติม รวมถึงมีแผนการออกหุ้นกู้จากปัจจุบันที่มีวงเงินที่ได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นไว้จำนวน 2,500 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ขยายธุรกิจเป็นหลัก
"เราต้องการสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้จะเริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไรตามสัดส่วนการลงทุนธุรกิจห้องเย็นในอินโดนีเซีย และยังมีธุรกิจคลังสินค้าและห้องเย็นที่ลงทุนในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้จากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเราตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเป็น 25% ภายในปี 63" นายชวนินทร์ กล่าว
พร้อมกันนี้ บริษัทอยู่ระหว่างคัดเลือกที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) เพื่อนำบริษัทย่อย คือ บริษัทโกลบอล ฟู้ดเซอร์วิส เน็ตเวิร์ก จำกัด (GFN) เข้าถือหุ้นในบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจให้บริการด้านอาหาร โดยมีทุนจดทะเบียน 210 ล้านบาท ล่าสุดได้เข้าลงทุนในบริษัท Chi Shan Long Feng Food Co., Ltd. (ประเทศไต้หวัน) ซึ่งดำเนินธุรกิจบริการด้านอาหาร โดยเข้าซื้อหุ้น 60%
ส่วนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) คาดว่าจะสามารถเห็นความชัดเจนได้ภายใน 3 ปีนี้ โดยบริษัทตั้งเป้าหมายภายใน 3 ปีจะมีรายได้เติบโตแตะ 2,000 ล้านบาท