SCC รุกต่อยอดผลงานนวัตกรรมทำโครงการนำร่องกับมหาวิทยาลัยจีนผลิต Functional Material-ให้สิทธิบัตรใช้ในกระบวนการผลิตยา

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 29, 2018 15:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) หรือเอสซีจี เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมาเอสซีจีมีผลงานในเรื่องงานนวัตกรรมจำนวนมาก โดยเปิดตัว "Open Innovation Center" ศูนย์กลางการเปิดรับความร่วมมือด้านงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกับภาครัฐ-เอกชน-การศึกษาทั่วโลก เพื่อต่อยอดความร่วมมือกับทุกภาคส่วน รวมถึงมีการขยายผลงานนวัตกรรมที่วิจัยและพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และมีโครงการนำร่องธุรกิจเคมีภัณฑ์ร่วมกับมหาวิทยาลัยในจีน

อย่างไรก็ตามสำหรับค่าใช้จ่ายในงานวิจัยและพัฒนา (R&D) ในปี 60 ลดลงจากปี 59 ที่มีการลงทุนโรงงานต้นแบบปิโตรเคมี ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ส่วนปี 60 เป็นลักษณะการลงทุนตามปกติ ขณะเดียวกันก็ได้เริ่มปรับรูปแบบการลงทุน R&D จากเดิมเน้นการทำเองค่อนข้างมาก มาเป็นการหาคนอื่นช่วยทำ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปลงทุนเพิ่มเติมการพัฒนาสินค้าเคมีภัณฑ์ร่วมกันกับมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด หรือร่วมกับมหาวิทยาลัยในจีน ตลอดจนการเข้าไปตั้งบริษัทวิจัยและพัฒนาในยุโรป โดยเชื่อว่าการดำเนินงานดังกล่าวจะเห็นผลดีมากขึ้นใน 1-2 ปีนี้ เมื่อผนวกกับการลงทุนดิจิทัลเทคโนโลยีด้วยก็จะเริ่มส่งผลในปีนี้และปีหน้า ซึ่งบริษัทก็จะพยายามเพิ่มการลงทุนในงานวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อกำไรและยอดขายที่เพิ่มขึ้นด้วย

ขณะที่เอกสารรายงานประจำปี 2560 ของ SCC ระบุว่าปี 60 เอสซีจีได้ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิจากนวัตกรรมของสิทธิบัตรเกี่ยวกับ Functional Material เพื่อนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการผลิตยาให้กับบริษัทพัฒนาสูตรการผลิตยาในอังกฤษ รวมทั้งเปิดดำเนินการโรงงานนำร่องร่วมกับมหาวิทยาลัยในจีนที่มีประสบการณ์ด้านการขยายผลการทดลอง เพื่อผลิต Functional Material ภายใต้เครื่องหมายการค้า CIERRA สำหรับเป็นสารเติมแต่งเพื่อป้องกันการลามไฟ (Flame Retardant) และมุ่งพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับกระบวนการปิโตรเคมีโดยใช้ CIERRA เพิ่มประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ SCC ยังจัดตั้งบริษัทในสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อเข้าถึงลูกค้าและทำการตลาดสำหรับอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มที่จะสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ CIERRA อาทิ ตัวเร่งปฏิกิริยา ฟิล์มชนิดพิเศษเพื่อป้องกันการซึมผ่านของออกซิเจนและความชื้น สารเติมแต่งเพื่อป้องกันการลามไฟ และเป็นส่วนประกอบในการเพิ่มประสิทธิภาพของยาและเวชภัณฑ์ ขณะเดียวกันจัดตั้งบริษัทในอังกฤษสำหรับต่อยอดการวิจัยในขั้นตอนการใช้งาน (Application Research) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้เหมาะสมในแต่ละอุตสาหกรรม

นายรุ่งโรจน์ กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในเวียดนาม ที่มีมูลค่าโครงการราว 5.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.88 แสนล้านบาท จะสามารถสรุปแผนงานทั้งหมดได้ภายในกลางปีนี้ ซึ่งมีความล่าช้าจากเดิมเพราะมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐบาล โดยเฉพาะในประเด็นข้อกฎหมายที่ทางเวียดนามอยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมาย ซึ่งคงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร

อย่างไรก็ตาม โครงการปิโตรเคมีขนาดใหญ่ในเวียดนามนั้น ปัจจุบันยังไม่มีผู้ดำเนินการ ซึ่งการที่เอสซีจีมีโอกาสเข้าไปลงทุนก็จะทำให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดนั้น ๆ และยังต่อยอดนำเอานวัตกรรมที่ดำเนินการอยู่ทั้งในไทยและยุโรปไปใช้ ซึ่งโครงการในลักษณะนี้จะทำให้เอสซีจีมีความแข็งแกร่งและสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว

"คิดว่ากลางปี เพราะมีข้อที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐพอสมควร รอถึงกลางปีจะมีข้อสรุปตรงนั้น...เขาอยู่ในช่วงระหว่างที่มีการแก้ไขกฎหมาย เหมือนของเราก็แก้ไขกฎหมายเหมือนกัน กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจ การทำงานต้องใช้เวลา ต้องยอมรับข้อเท็จจริงตรงนี้"นายรุ่งโรจน์ กล่าวตอบกรณีความคืบหน้าของโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในเวียดนาม และโอกาสเข้าถือหุ้นโครงการดังกล่าวเพิ่มเติม

อนึ่ง โครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในเวียดนามอยู่ภายใต้โครงการ Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ซึ่งกลุ่ม SCC ถือหุ้นในสัดส่วน 71% ร่วมกับ Vietnam Oil and Gas Group (PetroVietnam) ถือหุ้น 29% โดยโครงการได้คัดเลือกผู้รับเหมาแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปีครึ่ง และจะเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในช่วงครึ่งแรกของปี 65


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ