นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดผยว่า การที่ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ในตลาดประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมการให้บริการการโอนและชำระค่าบริการต่าง ๆ ให้กับลูกค้าที่ใช้บริการโมบายแอพพลิเคชั่น และอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้งนั้น จะกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารในระบบทั้งหมดที่มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากค่าธรรมเนียมที่ยกเลิกไปเป็นรายได้ค่าธรรมเนียมที่มีสัดส่วนมากที่สุด เพราะแต่ละธนาคารมีจำนวนฐานลูกค้าที่ใช้บริการอยู่มาก
อย่างไรก็ตาม ในอีกแง่หนึ่งจะเห็นปริมาณการทำธุรกรรมผ่านช่องทางโมบายและอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ลูกค้าหันมาใช้ช่องทางทั้งสองเพิ่มขึ้น แทนการใช้บริการผ่านตู้เอทีเอ็มและสาขา
"การยกเลิกค่าธรรมเนียมกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียมทั้งระบบธนาคารพาณิชย์อย่างแน่นอน แต่ที่ทำเพราะเป็นวัตถุประสงค์ของสังคมไร้เงินสด และทำให้ความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการต่าง ๆ มีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้น รวมถึงทำให้เกิด Cost saving ของแต่ละธนาคารที่จะตามมา"นายปรีดี กล่าว
นายปรีดี กล่าวว่า แม้ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ จะหันมาลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย แต่ก็ไม่สามารถที่จะชดเชยผลกระทบจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่หายไปได้ แต่ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ จะต้องมีการบริหารและหารายได้ที่มาจากบริการอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการลดต้นทุนบริหารเงินสดที่อยู่ในระดับสูงให้ลดลง โดยที่ต้นทุนการบริหารเงินสดเฉลี่ยทั้งระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท ประกอบกับในแง่ของการพัฒนาการบริหารต่าง ๆ โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อทำให้ธนาคารสามารถลดต้นทุนลงและปรับตัวได้ในสังคมยุคใหม่
ขณะที่ภารกิจของสมาคมธนาคารไทยยังคงให้ความสำคัญในเรื่องเทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีบล็อคเชน, ดิจิทัล ไอดี, KYC และการพัฒนาประสิทธิภาพระบบพร้อมเพย์ให้มีเสถียรภาพเพิ่มขึ้น และส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอีร่วมกับภาครัฐ พร้อมการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงการออมเงินและธุรกรรมการเงิน
ด้าน น.ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า ผลจากที่ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงิน ชำระบิลค่าสินค้า/บริการ รวมทั้งการเติมเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ แบงกิ้ง จะกระทบรายได้ค่าธรรมเนียมดังกล่าวของระบบธนาคารพาณิชย์ในปีนี้ราว 9,000 ล้านบาท ส่งผลให้รายได้จากค่าธรรมเนียมในปีนี้อาจจะเติบโตเพียง 2-3% ซึ่งลดลงค่อนข้างมาก จากที่ในปีก่อนรายได้ค่าธรรมเนียมเติบโตถึง 7%
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าเป็นเพียงผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น เพราะธนาคารพาณิชย์ยังมีรายได้ค่าธรรมเนียมจากส่วนอื่นๆ อยู่ เช่น ค่านายหน้า, บัตรเครดิต, การปริวรรตเงินตรา และคัสโตเดียน เป็นต้น ในระยะยาวจะทำให้มีลูกค้าใหม่ๆ เข้ามาใช้บริการในระบบอิเล็กทรอนิกส์ แบงกิ้งมากขึ้น ซึ่งผลพลอยได้ที่ได้รับ คือ การได้ฐานลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มเติม ฐานข้อมูลลูกค้ารายใหม่นี้ถือเป็นอาวุธสำคัญในการสร้างความได้เปรียบให้แก่แต่ละธนาคารที่สามารถนำไปใช้วิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าเพื่อออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด
"ระยะถัดไป จะเริ่มเห็นกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เข้ามา และมีข้อมูลการทำธุรกรรมของลูกค้า ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะข้อมูลถือเป็นอาวุธลับ หากมีข้อมูลไหลเข้ามาจะช่วยนำไปใช้วิเคราะห์การออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ให้มีความเหมาะสม และตอบโจทย์ลูกค้าเฉพาะราย หรือเฉพาะกลุ่มได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ซึ่งจะย้อนกลับมาเป็นรายได้จากค่าธรรมเนียมในส่วนอื่นๆ เช่น รายรับจากสินเชื่อ เป็นต้น" น.ส.ธัญญลักษณ์ระบุ