PTTEP เร่งรัดตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายใน 4 โครงการหวังเพิ่มปริมาณสำรอง คาด FID แหล่งโมซัมบิกใน H2/61

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 2, 2018 15:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปตท.สผ.จะเร่งรัดการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision:FID) สำหรับ 4 โครงการ ได้แก่ โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน, โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ, โครงการเวียดนาม บี และ 48/95 และ โครงการเวียดนาม 52/97 และแหล่งอุบลภายใต้โครงการคอนแทร็ค 4 ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียม รวมถึงปริมาณการผลิตปิโตรเลียมให้เพิ่มขึ้นด้วย

ปัจจุบัน ปตท.สผ.มีปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้ว 631 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และมีปริมาณสำรองที่น่าจะพบอีกราว 400 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ จากโครงการที่มีอยู่ทั้งหมด 36 โครงการ ใน 10 ประเทศ

โดยเฉพาะโครงโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ที่ ปตท.สผ. ถือหุ้นอยู่ 8.5% นั้น คาดว่าจะ FID ได้ภายในครึ่งหลังของปีนี้ ปัจจุบันรัฐบาลโมซัมบิกได้อนุมัติแผนการพัฒนาโครงการแล้ว และอยู่ระหว่างการหาลูกค้าเพิ่มเติม โดยเบื้องต้นมีลูกค้าจากยุโรปที่ได้ลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แล้ว และยังอยู่ระหว่างหาลูกค้าเพิ่มเติมโดยจะกระจายไปยังเอเชียตะวันออก เช่น จีน ,ญี่ปุ่น ซึ่งได้มีการตกลงในระดับ MOU ที่ราคาระดับหนึ่งแล้ว

ขณะที่ปริมาณสำรองปิโตรเลียมของแหล่งโมซัมบิกมีมากกว่า 75 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต (ลบ.ฟ.) ก็เชื่อว่าจะทำให้แหล่งดังกล่าวมีศักยภาพในการแข่งขันได้เมื่อเทียบกับแหล่งอื่นๆ ขณะเดียวกันหากแหล่งดังกล่าวมีการผลิตแล้วก็จะทำให้ ปตท.สผ.มีปริมาณการผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น 25,000-30,000 บาร์เรล/วัน หรือคิดเป็นราว 7-9% ของการผลิตของปตท.สผ.

สำหรับการเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมนั้นนอกเหนือจากแหล่งปิโตรเลียมที่มีอยู่ในมือแล้ว บริษัทยังมองหาโอกาสที่จะเข้าซื้อกิจการ (M&A) เพิ่มเติมซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมได้อีกทางหนึ่งด้วย โดยปัจจุบันบริษัทมีเงินสดในมือราว 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ จะใช้รองรับการทำ M&A ซึ่ง ปตท.สผ.ให้ความสำคัญกับแหล่งในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีฐานการผลิตอยู่แล้ว รวมถึงการเข้าซื้อแหล่งบงกชเพิ่มเติมราว 22.22% จากกลุ่มเชลล์ ตลอดจนการเข้าประมูลแปลงสำรวจเพิ่มเติมในเม็กซิโก และมาเลเซีย รวมถึงใช้รองรับความผันผวนของราคาน้ำมันที่คาดว่าจะมีต่อไปในอนาคต

ในส่วนการจะเข้าไปถือหุ้นเพิ่มอีกราว 22.22% ในแหล่งบงกช แม้จะเป็นการเข้าไปถือหุ้นเพิ่มในช่วงก่อนหมดอายุสัมปทานนั้น แต่ก็จะช่วยให้สามารถรับรู้รายได้และกำไรเพิ่มขึ้นทันที รวมถึงจะช่วยเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมได้ 50 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และเพิ่มปริมาณการผลิตปิโตรเลียมได้ปีละ 35,000 บาร์เรล/วัน โดยเบื้องต้นวางแผนลงทุนแหล่งบงกชเพื่อรักษาระดับการผลิตจนถึงปี 64 ซึ่งเป็นปีก่อนที่สัมปทานจะหมดอายุ แต่หาก ปตท.สผ.สามารถประมูลแหล่งบงกชได้ก็จะต้องมีการปรับแผนการผลิตให้ได้ตามความต้องการของภาครัฐต่อไป

แผนการดำเนินงานของ ปตท.สผ.ในปีนี้ จะให้ความสำคัญกับการเข้าประมูลแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยทั้งแหล่งบงกช และเอราวัณ ที่จะหมดอายุในปี 65-66 ซึ่งคาดว่าปลายเดือน เม.ย.ถึงต้นเดือน พ.ค. น่าจะมีความชัดเจนของการประมูลออกมาจากภาครัฐ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะเป็นรูปแบบการแบ่งปันผลผลิต (PSC) ซึ่งที่ผ่านมา ปตท.สผ.เคยมีประสบการณ์ดำเนินการในรูปแบบ PSC มาแล้วในทั้งแหล่งผลิตในเมียนมา และพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) ทำให้เชื่อว่าบริษัทมีความพร้อมที่จะดำเนินการได้

ขณะเดียวกัน ปตท.สผ.ก็จะรักษาระดับการผลิตปิโตรเลียมที่มีอยู่ในมือปัจจุบันไว้ที่ระดับ 3 แสนบาร์เรล/วัน และรักษาต้นทุนต่อหน่วย (unit cost) ที่ระดับ 30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล นอกจากนี้ก็ยังมีความลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับธุรกิจที่เปลี่ยนแปลง เช่น การร่วมกับ บมจ.ปตท. (PTT) เข้าไปลงทุน 10% ในโรงงานผลิต LNG ในมาเลเซีย ที่มีกำลังการผลิต 3.6 ล้านตัน/ปี มีอัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ราว 10-15%, การลงทุนในห่วงโซ่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ (Gas Value Chain) รวมถึงธุรกิจไฟฟ้าที่ต่อยอดจากฐานธุรกิจที่มีอยู่เดิม โดยเฉพาะใน CLMV ทั้งกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ,พลังงานทดแทน เป็นต้น ซึ่งคาดว่าธุรกิจใหม่ดังกล่าวจะมีความชัดเจนมากขึ้นในปีนี้

ส่วนความคืบหน้าของคดีมอนทาราในอินโดนีเซียนั้น ล่าสุดทางรัฐบาลอินโดนีเซียได้ถอนคำฟ้องคดีแล้ว ซึ่ง ปตท.สผ.ก็ได้เริ่มเข้าไปหารือกับรัฐบาลอินโดนีเซียแล้วด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ