บล.โกลเบล็ก (GBS) มองดัชนี SET ผันผวนในกรอบ 1,775 -1,800 จุด รับแรงหนุนจากปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินตัวเลขการบริโภคของเอกชนโต 3.3% และมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น จากการเบิกจ่ายงบประมาณกลางปีจำนวน 1.5 แสนล้านบาท
นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยได้รับปัจจัยบวกจากภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศที่ยังขยายตัวดี โดยธปท.ประเมินว่าการบริโภคภาคเอกชนจะเติบโตได้ 3.3% และยังมีโอกาสจะเติบโตได้มากกว่าที่คาดไว้ ทั้งนี้ ทิศทางการค้าของโลกยังมีแนวโน้มที่ดี เอื้อต่อการส่งออกสินค้าและบริการในปีนี้ ส่วนกำลังซื้อของประชาชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่มีผลตั้งแต่ 1 เม.ย. เป็นต้นไป การเบิกจ่ายงบประมาณกลางปีจำนวน 1.5 แสนล้านบาทที่จะเริ่มลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/61 รวมทั้งงบประมาณสำหรับการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย
ประกอบกับคาดว่าคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ แม้มีรายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือนมี.ค.61 ขยายตัวเพียง 0.79% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากเทียบเดือนก.พ.61 ลดลง 0.09% ส่วน Core CPI ขยายตัว 0.63% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.04% จากเดือนก.พ.61 รวมทั้งคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 2/61 มีแนวโน้มจะเร่งตัวขึ้น แต่ตัวเลข CPI ก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย
สำหรับปัจจัยลบที่กดดันตลาดในสัปดาห์นี้ ได้แก่ สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ หลังจากจีนตอบโต้สหรัฐที่เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนด้วยการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ 128 รายการรวมถึงผลไม้และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลไม้ในอัตรา 15% และสินค้าที่รวมถึงเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหมู ในอัตรา 25% อีกทั้งในเดือนเม.ย. ยังเป็นช่วงเดือนวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ คาดวอลุ่มตลาดจะเบาบางลง และหุ้นใหญ่หลายตัวจะขึ้นเครื่องหมาย XD อาทิ ADVANC, INTUCH, BANPU, BBL, KBANK, SCB และ SCC รวมทั้ง fund flow ผันผวน ในช่วง 1 เดือนย้อนหลังนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1.1 หมื่นล้านบาท
ในสัปดาห์แรกของเดือนเม.ย. ยังมีเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่จะเกิดขึ้น เช่น วันที่ 3 เม.ย. สหภาพยุโรป (อียู) เปิดเผย ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ(PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนมี.ค. ส่วนสหรัฐ เปิดเผย ยอดขายรถเดือนมี.ค.และสต็อกน้ำมันประจำสัปดาห์ สำหรับเหตุการณ์ในประเทศจับตาการประชุมคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) ส่วนวันที่ 4 เม.ย. จีน มีกำหนดเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ภาคการบริการเดือนมี.ค. และอียู เปิดเผย อัตราว่างงานเดือนก.พ. ด้านสหรัฐ เปิดเผย ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนมี.ค. จาก ADP ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ภาคการบริการเดือนมี.ค. คำสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนก.พ. และสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ ส่วนวันที่ 5 เม.ย. อียู เปิดเผย ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ(PMI) ภาคบริการเดือนมี.ค. และสหรัฐ เปิดเผย ยอดนำเข้า-ส่งออก และดุลการค้าเดือนก.พ. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
ด้านนายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก ประเมินว่า SET ผันผวนในกรอบ 1,775 -1,800 จุด ดังนั้น แนะนำกลยุทธ์ซื้อเก็งกำไร หุ้นที่มีปัจจัยบวก เช่น หุ้น GPI, KKP, TISCO, TCAP เป็นหุ้นได้ประโยชน์จากงานมอเตอร์โชว์ หุ้น CENTEL และ ERW ได้ประโยชน์จากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี และใกล้เข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และหุ้นปันผลเด่น BAFS, CRD, FTE, GLOW, KKP, NYT, SIS, SPRC, TISCO, QH, PDI, PL, AIT, AP และ KIAT
สำหรับแนวทางการลงทุนในทองคำนั้น แนวโน้มตลาดในระยะสั้นยังคงขึ้นอยู่กับความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯที่กำลังใช้มาตรการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าตอบโต้กัน ซึ่งมีความไม่ชัดเจนในแง่การขยายขอบเขตของมาตรการในอนาคตและผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทำให้ราคาทองคำมีการแกว่งผันผวนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกในระยะยาวสำหรับทองคำในแง่สินทรัพย์หนุนหลังการซื้อขายน้ำมันด้วยสกุลเงินหยวนของจีน ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สกุลเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าจึงมีการเก็บสะสมทองคำมากขึ้น สอดคล้องกับภาพทางเทคนิคที่ราคาทองคำยังคงเคลื่อนตัวสะสมกำลังในกรอบรูปสามเหลี่ยมแบบ descending ดังนั้นจึงแนะนำกลยุทธ์การลงทุน trading ในกรอบด้วยการรอจังหวะเข้าซื้อสะสมเมื่อราคาอ่อนตัวลงในช่วง 1,300-1,315 ดอลลาร์ แล้วแบ่งขายทำกำไรเมื่อราคาปรับขึ้นไปในช่วง 1,345-1,355 ดอลลาร์ และถือต่อถ้าราคาทะลุผ่าน 1,360 ดอลลาร์ขึ้นไปได้