นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประนเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล บมจ.ดุสิตธานี (DTC) เปิดเผยว่า บริษัทได้เดินหน้าขยายการเติบโตของธุรกิจหลักด้วยการเปิดตัวแบรนด์กลุ่มโรงแรมใหม่ ภายใต้ชื่อ"อาศัย"(ASAI) โดยแห่งแรกจะตั้งอยู่บนทำเลใจกลางตลาดนัดส่วนจตุจักรในช่วงไตรมาส 1/62 ชื่อ"โรงแรม อาศัย จตุจักร"
สำหรับแบรนด์"อาศัย"เป็นแบรนด์กลุ่มโรงแรมไลฟ์สไสตล์ในราคาที่จับต้องได้ สำหรับนักเดินทางที่มองหาประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากกรอบแนวคิดเดิมๆและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะแต่ละคน โดยได้ร่วมมือกับทีมงานช่างฝีมือท้องถิ่นในการออกแบบโรงแรมอาศัยในแต่ละทำที่สร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำภายใต้สโลแกน"Live Local"
"เราเชื่อมั่นว่า แบรนด์อาศัยจะเป็นอีกช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่มให้กับกลุ่มดุสิตธานี ด้วยตำแหน่งทางการตลาดของแบรนด์ ที่มุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีไลฟ์สไตล์แบบมิลเลนเนียล ซึ่งเป็นคนชื่นชอบการเดินทาง ใช้ชีวิตแบบไม่ยึดติดกับกรอบแบบเดิมๆ และเสาะหาประสบการณ์เที่ยวแบบคนในท้องถิ่น
จากผลการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า นักเดินทางในกลุ่มนี้จำนวนถึง 35% ต้องการพักในโรงแรมหรือรีสอร์ทที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน มีการตกแต่งและใช้เฟอร์นิเจอร์อย่างดี เพราะให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความคุ้มค่าของราคา ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวแบบคนท้องที่ที่รู้จักถิ่นนั้นจริงๆ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของแบรนด์อาศัยที่กลุ่มดุสิตตั้งใจให้เป็น" นางศุภจี กล่าว
ปัจจุบัน กลุ่มดุสิต ธานี ปัจจุบันมีโรงแรมที่ครอบคลุมระดับกลางและระดับบนรวมทั้งหมด 27 แห่งทั้งในและต่างประเทศ ภายใต้แบรนด์ ดุสิตธานี ดุสิตดีทู ดุสิตปริ๊นเซส และดุสิตเดวาราณา พร้อมกับวางแผนเปิดให้บริการเพิ่มอีกกว่า 70 แห่งทั่วโลก ภายใน 4 ปีข้างหน้าซึ่งแบรนด์ใหม่อย่างอาศัยจะเข้ามาเสริมศักยภาพทางธุรกิจให้ครอบคลุมลุกค้าที่กว้างขึ้นกว่าเดิม
นายศิรเดช โทณวนิก กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาศัย โฮลดิ้ง จำกัด เปิดเผยว่า โรงแรมแบรนด์ "ASAI" หรือ "อาศัย" จะเปิดเพิ่มอีก 5 แห่ง ซึ่งเป็นการลงทุนเอง 1 แห่งที่สาทร เงินลงทุน 470 ล้านบาท (รวมราคาที่ดิน) ส่วนอีก 4 แห่งเป็นการรับบริหาร ได้แก่ ที่เมืองย่างกุ้งในเมียนมา และเมืองเซบูในฟิลิปปินส์
นอกจากนี้ยังหาทำเลที่เหมาะสมเปิดเพิ่มอีก 4 แห่ง อาทิ สมุย เป็นต้น ซึ่งทั้ง 10 แห่งจะเปิดบริการในปี 62
นายศิรเดช กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าหมายเพิ่มโรงแรมแบรนด์ ASAI ปีละ 10 แห่ง โดยจะดูทำเลที่เหมาะสมเป็นหลัก ในต่างประเทศมุ่งเน้นไปที่ญี่ปุ่นและเกาหลี โดยเฉพาะในญี่ปุ่นมองว่ามีโอกาสเติบโตค่อนข้างมากจากการท่องเที่ยว ทั้งงนักท่องเที่ยวในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งมีแนวโน้มที่ญี่ปุ่นจะได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก จึงมองทำเลที่ตั้งโรงแรมในเมืองโตเกียวและโอซาก้าก่อน
ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ มองที่เมืองมนิลาเพิ่มเติมอีกแห่ง
นายศิรเดช กล่าวว่า รูปแบบการให้บริการของกลุ่มโรงแรมอาศัย จะแตกต่างออกไปจากกรอบให้บริการรูปแบบเดิมๆ ของโรงแรม โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกและเละช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์ในการจองและการเข้าพัก อาทิ การเช็คอินด้วยตัวเองที่ตู้บริการอัตโนมัติ บริการคู่มือท่องเที่ยวออนไลน์แบบพิเศษที่ให้ข้อมูลแขกของอาศัยเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมที่มีแต่เฉพาะคนท้องถิ่นเท่านั้นที่รู้จัก หรือสถานที่ที่เหมาะกับการเป็นจุดถ่ายรูปเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในโซเชียลมีเดีย รวมถึงยังมีการลิงค์เข้ากับไกด์ท้องถิ่นเพื่อพาไปเปิดประสบการณ์แปลกใหม่
ปรัชญาในการสร้างแบรนด์อาศัย ประกอบด้วย Thoughtful Essentials การออกแบบพื้นที่ใช้สอยด้วยความใส่ใจในรายละเอียด Locally-inspired การออกแบบที่ผสานเอกลักษณ์และเสน่ห์เฉพาะตัวในท้องถิ่นของแต่ละที่ Common Areas การจัดสรรพื้นที่ส่วนกลางภายในโรงแรมสำหรับให้ผู้คนมาพบปะแลกเปลี่ยนไอเดียและประสบการณ์ และConnected Community การเชื่อมโยงวัฒนธรรมที่แตกต่างของนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่นด้วยความเข้าใจอย่างถ่องแท้
จากปรัชญาในข้างต้น โรงแรมอาศัยทุกแห่งจึงมีห้องพักที่ได้รับการตกแต่งในสไตล์ร่วมสมัยขนาดกะทัดรัด (ประมาณ 15 ตร.ม). แต่พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกระดับคุณภาพ เช่น เตียงนอนคุณภาพสูง หรือ ฝักบัวอาบน้ำแรงดันสูง นอกจากนี้ โรงแรมยังให้ความสำคัญกับที่พื้นที่ส่วนกลางขนาดใหญ่ ที่แขกผู้เข้าพักจะสามารถมีมุมพักผ่อน พูดคุย เล่นเกม หรือทำงานได้เต็มที่ รวมถึงร้านอาหารที่รังสรรเมนูโดยเชฟชื่อดังในท้องถิ่นที่ให้ความใส่ใจกับการปรุงอาหารด้วยความรับผิดชอบเพื่อสนับสนุนความยั่งยืน
"ในทุกแห่งที่เราไป โรงแรมอาศัยมุ่งที่จะเสริมสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้กับท้องถิ่นนั้นๆ ตั้งแต่การส่งเสริมให้ชุมชนพึ่งพาตัวเองได้ในด้านเศรษฐกิจและสังคม ไปจนถึงการใช้ทรัพยากรที่หาได้ในท้องถิ่นและการลดปริมาณขยะและของเหลือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหนทางสู่ความยั่งยืนที่แท้จริง ตัวโรงแรมอาศัยเองให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ กับการสร้างความยั่งยืนในกระบวนการทุกขั้นตอนของการดำเนินงาน ตั้งแต่การออกแบบ การเลือกอุปกรณ์และเครื่องใช้ภายในโรงแรมและห้องพักแขกที่ทำจากวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การลดปริมาณอาหารเหลือทิ้ง ซึ่งเรามีแผนการที่จะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม"ยศิรเดช เปิดเผยเพิ่มเติม
นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DTC คาดว่า ในปี 61 เครือ DTC จะมีรายได้รวมเติบโต 5% จากปีก่อน และตั้งเป้า EBITDA Margin ที่ 15% ใกล้เคียงปีก่อนอยู่ที่ 15.3% ส่วนตั้งงบลงทุนปีนี้ จำนวน 925 ล้านบาท รวมการลงทุนโรงแรม ASAI ที่สาทรด้วย และนำไปปรับปรุงโรงแรมเดิมในเครือดุสิตธานี ได้แก่ เชียงใหม่ หัวหิน พัทยา เป็นต้น
ขณะที่กลุ่ม DTC เตรียมลงทุนตั้งโรงแรม 5 ดาวในเมืองเกียวโตของญี่ปุ่น ซึ่งระหว่างนี้รอให้ทางการอนุญาต โดยตั้งใจจะสร้างเป็น Flagship ของเครือดุสิตธานีในญี่ปุ่น
นอกจากนั้น DTC บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อกิจการโรงแรมในเอเชียและยุโรป คาดว่าจะสรุปได้ภายในปีนี้ เพื่อจะนำรายได้มาทดแทนรายได้โรงแรมดุสิตธานีกรุงเทพ ราว 900 ล้านบาท/ปี ซึ่งจะปิดดำเนินการในวันที่ 5 ม.ค.62 และเริ่มทยอยทุบทีละส่วนใน 2-3 เดือนหลังปิดให้บริการเพื่อสร้างเป็นโครงการ Mixed Use