นายเติมชัย บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเสนอโครงการผลิตไฟฟ้าป้อน 3 โรงงานปิโตรเคมีแห่งใหม่ ในกลุ่มบมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ที่คาดว่าจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าราว 200-300 เมกะวัตต์ (MW) คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในไตรมาส 2/61 เนื่องจากทั้ง 3 โรงงานดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการภายในปี 63 ทำให้จำเป็นต้องเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวภายในปีนี้
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าดังกล่าวจะเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ มีมูลค่าลงทุนราว 50 ล้านบาท/เมกะวัตต์ ซึ่งจะเป็นเงินลงทุนใหม่นอกเหนือจากงบลงทุนในปีนี้ที่ราว 7 พันล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์ของบริษัทที่จะมุ่งเน้นการเติบโตภายในประเทศ ร่วมกับกลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
"แม้เราจะอยู่ในกลุ่มปตท.แต่เราก็ต้องเข้า Bid แข่งกับเขา โรงงานใหม่ของ PTTGC ที่กำลังก่อสร้างคาดว่าจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าราว 200-300 เมกะวัตต์ คาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 2 นี้ เพราะโรงงานเขาต้องแล้วเสร็จในปี 63 ก็ต้องเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าในปีนี้ เรามั่นใจว่าจะ Bid แข่งได้เพราะเรามี reliability ดีมากที่ผ่านมาเราไม่เคยมีไฟดับไฟตก"นายเติมชัย กล่าว
นายเติมชัย กล่าวว่า การผลิตไฟฟ้าเพื่อป้อนให้กับ PTTGC นั้นเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการป้อนกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ให้กับการขยายงานของกลุ่ม ปตท.ที่คาดว่าจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้ารวม 1 พันเมกะวัตต์ และยังมีโอกาสใหม่ๆ เพิ่มเติมตามการลงทุนใหม่ในพื้นที่ EEC ด้วย นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อซื้อกิจการโรงไฟฟ้าในประเทศที่เปิดดำเนินการผลิตแล้วด้วย
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในปีนี้ แม้ว่าจะไม่มีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่เพิ่มเติม แต่บริษัทจะรับรู้ผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าที่เริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) 3 แห่งในปีที่ผ่านมาได้เต็มปี ได้แก่ โรงไฟฟ้าไออาร์พีซี คลีนเพาเวอร์ ระยะที่ 2 (IRPC-CP Phase 2) เมื่อเดือนพ.ย.60 ,โรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น 2 (BIC2) เมื่อเดือนมิ.ย.60 และโรงไฟฟ้าอิชิโนเซกิ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนธ.ค.60 ซึ่งจะส่งผลให้รับรู้ผลการดำเนินงานจากกำลังการผลิตที่มีอยู่ปัจจุบัน 1,530 เมกะวัตต์
ขณะเดียวกันโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ RDF ในจ.ระยอง จะเริ่มดำเนินการผลิตในช่วงไตรมาส 2/61 รวมถึงจะได้รับประโยชน์จากการออกหุ้นกู้ 5 พันล้านบาทเมื่อปลายไตรมาส 3/60 เพื่อรีไฟแนนซ์หนี้เดิม ซึ่งทำให้ลดภาระดอกเบี้ยได้ 1% หรือราว 50 ล้านบาท/ปี
ด้านนายสุรงค์ บูลกูล ประธานกรรมการ ของ GPSC กล่าวว่า นอกจากกลยุทธ์การเติบโตของบริษัทที่จะร่วมกับกลุ่ม ปตท.แล้ว บริษัทก็จะยังขยายการเติบโตด้วยการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในเมียนมาที่ปัจจุบันจะร่วมกับ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เพื่อเสนอโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ขนาดราว 100 เมกะวัตต์ ป้อนให้กับเมียนมา ซึ่งเบื้องต้นได้หารือกับรัฐบาลกลาง และรอให้ทางเมียนมามีความพร้อมก่อนจะเสนอแพ็กเกจโครงการต่อไป
นอกจากนี้ยังจะมีการลงทุนในธุรกิจใหม่ เช่น โซลาร์รูฟท็อป และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System :ESS) โดยในส่วนความคืบหน้าโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไออน ขนาด 100 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWH) มูลค่าราว 50 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในไตรมาส 4/62 โดยกำลังผลิตในระดับดังกล่าวสามารถผลิตแบตเตอรี่ ขนาดความจุ 300 วัตต์ ได้ทั้งหมด 3 แสนก้อน/ปี ซึ่งช่วงแรกแบตเตอรี่ที่ผลิตได้จะใช้ในระบบ ESS ในธุรกิจไฟฟ้าเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน ก่อนที่จะพัฒนาไปสู่การผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ ,เสาโทรคมนาคม เป็นต้น
ทั้งนี้ ล่าสุดบริษัทตกลงให้ความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อศึกษาการทำงานของระบบกักเก็บพลังงานโดยใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานและระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะเพื่อศึกษาประโยชน์ในโครงการร่วมกัน โดยโครงการเริ่มจากการติด Energy Storage ของ AMPD ซึ่งเป็นพันธมิตรจากฮ่องกง ที่ต้องการเข้ามาทำตลาดในไทย โดย Energy Storage ดังกล่าวเพื่อใช้ในการทำ Time Shift และ Back up ใน Energy Research and Development Institution ของมหาวิทยาลัย ซึ่งนอกจากใช้เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟใน มหาวิทยาลัยแล้ว ยังสามารถใช้เพื่อศึกษาและพัฒนา Energy Storage ร่วมกันในประเทศไทยด้วย