(เพิ่มเติม) PRM ซื้อ"Big Sea"เสริมแกร่งเรือขนส่งขนาดเล็ก เชื่อหนุนรายได้ทั้งปีทะลุเป้า 5 พันลบ.-อัตรากำไรเพิ่มขึ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 4, 2018 13:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาญวิทย์ อนัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พริมา มารีน (PRM) เปิดเผยว่า บริษัทลงนามสัญญาเข้าซื้อหุ้น บริษัท บิ๊ก ซี จำกัด (Big Sea) ผู้ประกอบธุรกิจขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปทางทะเลรายใหญ่จำนวน 360,000 หุ้น รวมมูลค่าการซื้อขายทั้งสิ้นไม่เกิน 2,900 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนการซื้อขายล็อตแรก 70% และจะทยอยซื้อเพิ่มอีก 30% ภายใน 3 ปี

การเข้าซื้อหุ้นของ Big Sea ในครั้งนี้ เพื่อเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจของ PRM ในกลุ่มธุรกิจขนส่งฯ ภายในประเทศ ให้มีความแข็งแกร่งในด้านจำนวนเรือที่จะเพิ่มขึ้นอย่างเท่าตัว ซึ่งส่งผลให้ PRM มีส่วนแบ่งการตลาดการขนส่งในประเทศเป็นอันดับ 1 โดยคิดเป็นสัดส่วน 49% ของส่วนแบ่งการขนส่งตลาดในประเทศทั้งหมด โดยมีความสามารถในการให้บริการขนส่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดังนี้ ปริมาณการขนส่งของ เชฟรอน จากเดิม 15% จะเพิ่มเป็น 43%, เชลล์จากเดิม 19% จะเพิ่มเป็น 64%, IRPC จากเดิม 19% จะเพิ่มเป็น 52% และยังขยายฐานลูกค้าใหม่ คือ บางจาก คิดเป็นสัดส่วน 37% ของปริมาณน้ำมันที่ขนทางเรืออีกด้วย

สำหรับรายละเอียดการเข้าซื้อหุ้น Big Sea แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรก PRM จะเข้าซื้อหุ้นสามัญจำนวน 252,000 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 70% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดใน Big Sea จากบริษัท ทีดับบลิวที จำกัด โดยมีมูลค่ารวมไม่เกิน 1,400 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะทำธุรกรรมแล้วเสร็จและรับรู้รายได้ทันทีภายในไตรมาส 2/61

จากนั้นช่วงที่ 2 PRM จะทยอยเข้าซื้อหุ้น Big Sea ในส่วนที่เหลืออีก 108,000 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 30% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดจาก ทีดับบลิวเอทีที ลิมิเต็ด (TWATT Limited) โดยทยอยเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 10% ต่อปี รวม 3 ปี ซึ่งสัดส่วนการเข้าทยอยซื้อหุ้นในช่วง 3 ปีนี้จะพิจารณาจากผลการดำเนินงานของ Big Sea เป็นสำคัญ โดยคาดว่าการซื้อขายหุ้นในช่วงที่ 2 จะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/64 ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวมไม่เกิน 1,500 ล้านบาท

อนึ่ง Big Sea เป็นเจ้าของกองเรือขนส่งขนาดเล็ก 13 ลำ อายุเรือเฉลี่ย 17.3 ปี ขนาดความจุเฉลี่ยต่อลำอยู่ที่ 2.7 ล้านลิตร รวมความจุทั้งหมดประมาณ 35.2 ล้านลิตร รับสินค้าจากโรงกลั่นน้ำมันและคลังน้ำมันในประเทศส่วนใหญ่ในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ให้แก่ลูกค้ากลุ่มบริษัทผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของประเทศ โดยมีสัญญาให้บริการกับกลุ่มลูกค้าระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี จำนวน 3 ลำ และสัญญาระยะยาวมากกว่า 1 ปี อีก 10 ลำ รวมถึงอยู่ระหว่างการต่อเรือเพิ่มอีก 1 ลำ ขนาดความจุ 5.3 ล้านลิตร คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 62 เพื่อให้บริการแก่เชฟรอน หลังได้รับสัญญาเช่าระยะยาวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของ Big Sea มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจาก 457 ล้านบาทในปี 58 เพิ่มเป็น 596 ล้านบาทในปี 60 ขณะที่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 97 ล้านบาท เพิ่มเป็น 110 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ย 19%

นายชาญวิทย์ กล่าวว่า แหล่งเงินทุนที่ใช้ซื้อกิจการ Big Sea จะมาจากเงินสดของบริษัทและเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน โดยการเข้าซื้อกิจการคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้ และหลังจากนั้นบริษัทจะนำผลการดำเนินงานของ Big Sea เข้ามาบันทึกในงบการเงินไตรมาส 2/61

การเข้าซื้อกิจการ Big Sea คาดว่าจะส่งผลให้แนวโน้มรายได้ของบริษัทในปี 61 จะสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5 พันล้านบาท หรือเติบโต 10% จากปีก่อน เพราะเป้าหมายเดิมยังไม่ได้รวมรายได้ของ Big Sea ซึ่งดีลดังกล่าวจะทำให้บริษัทมีกองเรือขนส่งเพิ่มขึ้นในสิ้นปีนี้อยู่ที่ 27 ลำ จากปัจจุบันบริษัทมีกองเรือที่เป็นของบริษัทเองและเช่ารวม 14 ลำ โดยปีนี้ Big Sea มีกองเรือ 13 ลำ และจะเพิ่มอีก 1 ลำในเดือน มี.ค.62

"ดีลนี้จะทำให้รายได้ของบริษัทมีการเติบโตได้มากกว่าเป้าหมาย พร้อมกับการตอกย้ำความเป็นเจ้าตลาดของธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันของบริษัทที่มีความได้เปรียบคู่แข่ง"นายชาญวิทย์ กล่าว

ในแง่ของอัตรากำไนสุทธิยังมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอีกราว 10% จากปีก่อนที่มีอัตรากำไรสุทธิ 15.30% เนื่องจากธุรกิจเดินเรือขนส่งของ Big Sea มีอัตรากำไรสูงกว่าเมื่อเทียบกับบริษัท เพราะเป็นการขนส่งโดยเรือขนาดเล็กที่ต้นทุนและค่าไช้จ่ายไม่สูงมากนัก จึงจะส่งผลบวกต่ออัตรากำไรสุทธิของบริษัทในปีนี้

ทั้งนี้ แนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/61 ของบริษัทคาดว่าจะเห็นการเติบโตโดดเด่นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/61 และช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากรับรู้ผลการดำเนินของของ Big Sea เข้ามา และรับผลบวกจากการปรับพอร์ตกองเรือที่หันมาเน้นเรือเล็กเพิ่มขึ้น หลังจากที่เรือใหญ่อย่าง Aframax มีภาระขาดทุน พร้อมกับการปรับสัญญาเช่าเรือที่เป็นการขนส่งรายเที่ยว (Spot) มาเป็นสัญญาระยะยาวและลูกค้าเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง (Time Charter) เพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะต้นทุนพลังงาน

ประกอบกับการมีกองเรือใหม่ของ Big Sea เข้ามาเสริม เป็นปัจจัยหนุนให้ผลการดำเนินงานเริ่มเห็นการเติบโตโดดเด่นต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งปีหลัง ขณะที่ไตรมาส 1/61 ยังทรงตัว

นายชาญวิทย์ กล่าวอีกว่า บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาการเข้าซื้อกิจการเกี่ยวข้องกับธุรกิจเดินเรือขนส่ง เพื่อเข้ามาเสริมศักยภาพการเติบโตในอนาคต คาดว่าจะเห็นความชัดเจนของการเข้าซื้อกิจการอย่างน้อย 1 รายภายในปีนี้ โดยบริษัทยังมีเงินทุนเพียงพอต่อการซื้อกิจการ เพราะมีเงินระดมทุนจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนครั้ชแรก (IPO) เหลืออยู่ราว 2 พันล้านบาท และยังสามารถกู้ยืมจากสถาบันการเงินได้อีก ขณะที่อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 0.71 เท่า และมีนโยบายควบคุมไม่ให้เกิน 1.5 เท่า

"เรายังคงวางเป้าหมายการขยายธุรกิจเหมือนเดิมโดยที่เราอยากเติบโตเข้าไปในภูมิภาคอาเซียนให้มากขึ้น ก็พยายามหาช่องทางในการขยายและมองหาโอกาสในการที่จะก้าวไปสู่ระดับภูมิภาคอาเซียน จากที่ปัจจุบันเราเน้นในประเทศเป็นส่วนใหญ่ การลงทุนต่างๆเราตั้งเป้า IRR จะต้องมากกว่า 12% และเราอยากเป็นหนึ่งในกองเรือที่จะเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย"นายชาญวิทย์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ