นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) เปิดเผยว่า กลุ่มสามารถในนาม SISC Consortium ประกอบด้วย บมจ.สามารถดิจิตอล และบริษัท สามารถคอมมิวนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด ได้ร่วมมือกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม ในโครงการ Digital Trunked Radio System เพื่อพัฒนาขีดความสามารถและขยายโอกาสทางธุรกิจให้แก่บริการวิทยุสื่อสารคมนาคมระบะดิจิทัล (DTRS)
สำหรับการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ กสท นี้ SISC Consortium มีภารกิจหลัก 2 ส่วน คือ การจัดหา วางระบบและติดตั้งอุปกรณ์ DTRS ไม่ต่ำกว่า 1,000 สถานีให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี นับจากวันลงนามในสัญญาวันที่ 24 ส.ค.60 โดยจะเป็น Nationwide Digital Trunked Radio เครือข่ายแรก ที่มีรัศมีการสื่อสาร ครอบคลุมและกว้างไกลที่สุดในประเทศไทย รวมทั้งมีหน้าที่ด้านการตลาด และการจัดจำหน่ายเครื่องลูกข่าย Trunk Mobile ผ่าช่องทางต่างๆ โดยบริษัทฯ ได้คัดสรรและเลือกที่จะเป็นตัวแทนจำหน่ายวิทยุสื่อสารแบรนด์ Motorola ซึ่งได้มาตรฐานและได้รับความไว้วางใจจากองค์กรชั้นนำระดับโลก ด้วยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์อันยาวนาน
Digital Trunked Radio System (DTRS) ได้รับการออกแบบมาเพื่อรองรับการสื่อสารแบบกลุ่ม (One-to-Many หรือ Group Call) ที่ต้องการความรวดเร็วในการสื่อสารข้อมูลไปยังกลุ่มคนจำนวนมาก ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากในสถานการณ์ฉุกเฉิน (Mission Critical) มีความเสถียรในการใช้งาน แม้ในยามเกิดภัยพิบัติ ซึ่งโครงข่ายการสื่อสารอาจล่มและใช้งานไม่ได้ตามปกติ แต่เครื่องวิทยุสื่อสารยังคงติดต่อถึงกันได้ อีกทั้งตัวเครื่องลูกข่ายก็มีความอดทน กันกระแทก กันน้ำ กันประกายไฟ จึงเหมาะสำหรับการใช้งานภาคสนาม และช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้บริการ และ DTRS ยังมีคุณสมบัติในการปกป้องความปลอดภัยของข้อมูลในระดับสูง สามารถป้องกันการดักฟังด้วยการเข้ารหัส และที่สำคัญที่สุด คือ ระบบ Digital Trunked Radio มีเครือข่ายการให้บริการที่ครอบคลุมทั่วประเทศ สามารถใช้ติดต่อถึงกันได้โดยไม่จำกัดพื้นที่และมีคุณภาพเสียงที่คมชัด ด้วยการส่งสัญญานในระบบดิจิตอลและระบบตัดเสียงรบกวน
ด้วยคุณสมบัติหลักๆดังกล่าว ระบบ DTRS จึงแตกต่างจากระบบวิทยุสื่อสารในแบบเดิมๆ และมีคุณสมบัติที่โทรศัพท์มือถือไม่สามารถทดแทนได้ เพราะแม้ว่าปัจจุบันโทรศัพท์มือถือจะสามารถใช้ในการสื่อสารแบบกลุ่มได้ แต่ยังคงต้องใช้ Application และใช้ช่องทาง Internet ในการสื่อสาร ซึ่งในยามที่เกิดเหตุฉุกเฉิน หรืออุบัติภัยร้ายแรง และเครือข่ายการสื่อสารไม่สามารถให้บริการได้ตามปกติ โทรศัพท์มือถือก็จะไม่สามารถใช้งานได้ตามที่ต้องการ
ในส่วนกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ประกอบด้วย องค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ตลอดจนภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมและบริการต่างๆ เช่น การขนส่งและการเดินทาง, โรงงานและนิคมอุตสาหกรรม, โรงพยาบาล, ศูนย์กู้ภัย และกลุ่มรถหรู Super Car เป็นต้น โดยในปีนี้คาดว่าจะมีจำนวนผู้ใช้บริการ 50,000-100,000 เครื่อง และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 4 แสนเครื่องในปี 63
นอกจากนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างเจรจากับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนอีกจำนวนหลายราย โดยภาครัฐ ได้แก่ กรมเจ้าท่า ,กรมอุทยานแห่งชาติ ,หน่วยงานทหาร และภาคเอกชน ได้แก่ บริษัทโลจิสติกส์ ,สายการบิน เป็นต้น ขณะเดียวกันก็มองโอกาสการให้บริการไปในนิคมอุตสาหกรรมด้วย โดยบริษัทฯ คาดจะมีสัดส่วนรายได้จากภาครัฐราว 70% และ เอกชน 30%
"ด้วยโอกาสทางการตลาดและด้วยคุณสมบัติเด่นของระบบ DTRS บริษัทมั่นใจว่าธุรกิจนี้จะมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องและจะเป็นแหล่งรายได้ประจำที่สำคัญของบริษัทต่อไป เพราะนอกจากจะมีรายได้จากการจำหน่ายเครื่องลูกข่ายแล้ว ยังมีรายได้จากค่าบริการรายเดือน ซึ่งเริ่มต้นที่ 800 บาท/เครื่อง/เดือน โดยบริษัทฯ จะได้ในสัดส่วน 500 บาท/เครื่อง/เดือน ส่วนที่เหลือจะเป็นของกสท. ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อรายได้รวมของ บมจ.สามารถดิจิตอล เติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งบริษัทฯ ยังคงเป้าหมายรายได้ปีนี้เติบโต 3 พันล้านบาท" นายวัฒน์ชัย กล่าว