ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กรและแนวโน้ม PTG ที่ "BBB+/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 4, 2018 17:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรระดับ "BBB+" ของ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (PTG)

อันดับเครดิตสะท้อน สถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง เครือข่ายสถานีบริการน้ำมันที่มีอยู่ทั่วประเทศ และความพยายามของบริษัทที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจอื่นนอกจากธุรกิจน้ำมัน อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกกดดันด้วยระดับหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งเป็นผลจากการขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว และความเสี่ยงจากการพึ่งพาผู้ขายน้อยราย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต ได้แก่ สถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งขึ้น ปริมาณการขายน้ำมันของบริษัทเติบโตจาก 1,372 ล้านลิตรในปี 2555 เป็น 3,377 ล้านลิตรในปี 2560 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% การเติบโตเป็นผลจากการเพิ่มจำนวนสถานีบริการอย่างรวดเร็ว และการเติบโตของยอดขายในสถานีบริการเดิม บริษัทเพิ่มสถานีบริการเฉลี่ยประมาณปีละ 200 สถานีต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้ ณ สิ้นปี 2560 บริษัทมีสถานีบริการทั้งสิ้น 1,696 สถานี ทำให้บริษัทมีจำนวนสถานีบริการน้ำมันมากเป็นอันดับ 2

เครือข่ายสถานีบริการใหญ่ขึ้นนอกจากทำให้ปริมาณการขายน้ำมันเพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้ตราสินค้าของบริษัทมีความแข็งแกร่งเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นด้วย นอกจากนี้ บริษัทมีระบบสมาชิก "PT Max Card" ซึ่งช่วยกระตุ้นยอดขายและรักษาฐานลูกค้า โดยจำนวนสมาชิกในระบบ "PT Max Card" เติบโตอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 7.7 ล้านสมาชิก ณ สิ้นปี 2560 จาก 5.6 ล้านสมาชิก ณ สิ้นปี 2559 สถานะทางการตลาดของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นเห็นได้จากส่วนแบ่งการตลาด (ปริมาณการขายน้ำมันผ่านทุกช่องทาง ไม่รวม LPG) ของบริษัทเพิ่มจาก 8.8% ในปี 2559 เป็น 10.2% ในปี 2560 และบริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดสำหรับช่องทางค้าปลีกเท่านั้นเป็นอันดับ 3 โดยอยู่ที่ร้อยละ 13.6% ในปี 2560

ความเสี่ยงจากการจัดหาน้ำมันจากผู้ขายน้อยราย เนื่องจากบริษัทไม่มีโรงกลั่นเป็นของตนเอง บริษัทจึงจัดหาน้ำมันจากโรงกลั่นและผู้ค้าน้ำมันรายอื่น บริษัทซื้อน้ำมันส่วนใหญ่จาก บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงจากการพึ่งพาผู้ขายน้อยราย อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งไม่ได้กังวลกับความเสี่ยงดังกล่าวมากเนื่องจากปัจจุบันผลิตภัณฑ์น้ำมันในประเทศไทยมีอุปสงค์ส่วนเกินอยู่ นอกจากนี้ ที่ผ่านมาบริษัทกระจายการจัดหาน้ำมันมากขึ้น โดยสัดส่วนปริมาณซื้อจากไทยออยล์ต่อปริมาณการซื้อรวมทั้งหมดลดลงจาก 94% ในปี 2557 มาอยู่ที่ 81% ในปี 2560

มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่ธุรกิจน้ำมัน โดยบริษัทวางแผนจะขยายธุรกิจในส่วนที่ไม่ใช่ธุรกิจน้ำมันมากขึ้นเพื่อให้มีแหล่งรายได้ที่หลากหลายยิ่งขึ้น โดยในปี 2560 บริษัทซื้อกิจการของบริษัท จีเอฟเอ คอร์ปอเรชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ Coffee World, Cream & Fudge, New York 5th Avenue, และ Thai Chef Express นอกจากนี้ บริษัทได้ร่วมลงทุนโดยถือหุ้น 38% ใน บริษัท สยาม ออโต้แบคส์ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจศูนย์บริการและซ่อมบำรุงสำหรับรถยนต์ในประเทศไทย โดยเป็นการลงทุนร่วมกับบริษัท Autobacs Seven ซึ่งเป็นบริษัทญี่ปุ่น

ในช่วง 2-3 ปี ข้างหน้า บริษัทวางแผนลงทุนประมาณ 500-700 ล้านบาทต่อปี สำหรับการขยายธุรกิจอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ธุรกิจน้ำมันที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งประกอบไปด้วยร้านสะดวกซื้อ "Max Mart" ร้านกาแฟ "พันธุ์ไทย" และ "Coffee World" และศูนย์บริการและซ่อมบำรุง "Autobacs" และ "Pro Truck" บริษัทยังวางแผนลงทุนอีก 500-1,000 ล้านบาทต่อปีในธุรกิจใหม่ประมาณปีละ 2-3 ธุรกิจ ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามดูผลของการขยายธุรกิจต่อไป

การขยายธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่า บริษัทมีความพยายามในการขยายธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่า ตัวอย่างเช่น บริษัทได้ลงทุนในโครงการปาล์มน้ำมันครบวงจรซึ่งเริ่มศึกษามาตั้งแต่ปี 2557 โครงการปาล์มน้ำมันจะเริ่มดำเนินงานในช่วงสิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2561 โดยโครงการประกอบไปด้วยโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ โรงกลั่นน้ำมันปาล์ม โรงผลิตไบโอดีเซล และโรงผลิตน้ำมันพืชเพื่อบริโภค ทั้งนี้ บริษัทถือหุ้น 40% ในโครงการดังกล่าว โครงการดังกล่าวจะทำให้บริษัทมีแหล่งในการจัดหาไบโอดีเซล (B100) และยังให้ผลตอบแทนแก่บริษัทอีกด้วย

บริษัทได้ลงทุนเพื่อรักษาประสิทธิภาพด้านการขนส่งน้ำมันเพื่อรองรับการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในปี 2559 บริษัทได้ลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง 2 แห่ง โดยได้ซื้อหุ้น 24% ใน บริษัท อาม่า มารีน จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินธุรกิจขนส่งทางเรือและมีความเชี่ยวชาญด้านการขนส่งของเหลวเป็นหลัก และซื้อหุ้น 9.55% ใน บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (Fuel Pipe Transportation Co., Ltd. -- FPT) ซึ่งทำให้บริษัทสามารถใช้ท่อขนส่งน้ำมันของ FPT ได้ ในระยะยาวเมื่อบริษัทขยายสถานีบริการน้ำมันมากขึ้นแล้วปริมาณการขายน้ำมันเพิ่มมากขึ้น การขนส่งทางท่อจะประหยัดต้นทุนได้มากกว่าการขนส่งน้ำมันทางรถบรรทุกเนื่องจากมีค่าแรงงานและค่าซ่อมบำรุงที่ต่ำกว่า

การเพิ่มขึ้นของหนี้สินจากการขยายตัวอย่างรวดเร็ว การขยายสถานีบริการน้ำมันอย่างรวดเร็วทำให้ระดับหนี้สินของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ บริษัทขยายสถานีบริการเฉลี่ยโดยประมาณปีละ 200 สถานี โดยใช้งบลงทุน 1,900-5,300 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2558-2560 เป็นผลให้เงินกู้รวม (ปรับปรุงด้วยสัญญาเช่าดำเนินงาน) เพิ่มขึ้นมากจาก 2,354 ล้านบาท ณ ปี 2557 เป็น 14,609 ล้านบาท ณ ปี 2560 และอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน (ปรับปรุงด้วยสัญญาเช่าดำเนินงาน) เพิ่มขึ้นจาก 39.5% ในปี 2557 เป็น 74.1% ในปี 2560

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาทในช่วงปี 2561-2563 เพื่อขยายสถานีบริการ ขยายธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน และลงทุนในธุรกิจใหม่ และคาดการณ์กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย จะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 3,200 ล้านบาทในปี 2561 เป็นประมาณ 4,300 ล้านบาท ในปี 2563 หนี้สินรวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะอยู่ในช่วง 75%-77% ในช่วงปี 2561-2563

บริษัทมีกระแสเงินสดรองรับการชำระหนี้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวม (ปรับปรุงด้วยสัญญาเช่าจากการดำเนินงาน) อยู่ที่ 19.7% และอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ต่อดอกเบี้ยจ่าย เท่ากับ 6.4 เท่า ทริสเรทติ้งคาดว่าในช่วงปี 2561-2563 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวม (ปรับปรุงด้วยสัญญาเช่าจากการดำเนินงาน) จะอยู่ที่ประมาณ 17% และอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ต่อดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ที่ 5-6 เท่า

บริษัทมีเงินกู้ยืมระยะสั้นเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาแม้ว่าบริษัทจะมีวงจรเงินสดติดลบ ซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นเพียงชั่วคราวเพื่อใช้รองรับการขยายตัวของสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นและการลงทุนต่าง ๆ และคาดว่าบริษัทจะทยอยลดการใช้เงินกู้ระยะสั้นลงโดยการเปลี่ยนไปใช้เงินกู้ระยะยาวที่สอดคล้องกับการลงทุนมากขึ้น

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถดำรงสถานะทางการตลาดในธุรกิจค้าปลีกน้ำมันสำเร็จรูปไว้ได้ และบริษัทจะมีความระมัดระวังในแผนการขยายธุรกิจทั้งในมุมของการตัดสินใจลงทุนและการจัดหาเงินทุน

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง การปรับเพิ่มอันดับเครดิตมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยในระยะเวลาอันใกล้ ในขณะที่อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากอัตราการก่อหนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงอย่างมีนัยสำคัญจากการลงทุนที่มากกว่าที่คาดการณ์โดยใช้เงินกู้ หรือผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนตัวลงเป็นระยะเวลานาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ