DTAC ย้ำกับผถห.เดินหน้าธุรกิจในไทย เตรียมพร้อมเข้าประมูลคลื่นใหม่-รอลุ้นเซ็นสัญญาบริการคลื่น 2300 MHz

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 4, 2018 17:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ยืนยันต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 61 ว่า บริษัทจะเดินหน้าทำธุรกิจในประเทศไทยต่อไป โดยจะเข้าประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) อย่างแน่นอน โดยคาดหวังว่าสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะเปิดประมูลคลื่นความถี่รอบใหม่ได้ภายในปีนี้

ขณะที่คลื่นความถี่ 850 และ 1800 MHz ที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานระหว่างดีแทคกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานลงในวันที่ 15 ก.ย.61 ขณะนี้อยู่ระหว่างรอความชัดเจนของหน่วยงานภาครัฐว่าจะนำคลื่นดังกล่าวไปใช้งานในส่วนใด แต่บริษัทก็มีแนวทางที่จะหาคลื่นความถี่ใหม่เข้ามาทดแทน โดย DTAC จะนำคลื่นความถี่ 2300 MHz มาให้บริการรองรับการใช้งานของลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ความคืบหน้าของการลงนามในสัญญาการเป็นพันธมิตรคลื่นความถี่ 2300 MHz กับ บมจ.ทีโอทีนั้น อยู่ระหว่างรออัยการสูงสุดพิจารณาร่างสัญญาระหว่างสองฝ่าย คาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญากันได้ในเร็วๆ นี้ หลังจาก DTAC ชนะการยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคและผลตอบแทน เพื่อเป็นคู่ค้าบริการคลื่นความถี่ 2300 MHz จำนวนแบนด์วิธ 60 MHz ของทีโอทีเป็นระยะเวลา 8 ปี

"เรามีการวางแผนการหาคลื่นเข้ามาทดแทนคลื่นที่จะหมดอายุสัมปทานลง โดยส่วนแรกคือการนำคลื่น 2300 เมกะเฮิร์ตซ์ มาให้บริการ และยังมีพร้อมที่จะเข้าประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ อีกด้วย เพื่อรองรับการใช้งานของลูกค้า และการแข่งขันในตลาด"นายนอร์ลิ่ง กล่าว

ปัจจุบันบริษัทมีคลื่นความถี่ในครอบครองอยู่ทั้งสิ้น 50 เมกะเฮิร์ตซ์ ถือว่าอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับผู้ประกอบการค่ายโทรศัพท์มือถือรายอื่นๆ และบริษัทยังคงเดินหน้าขยายโครงข่าย 4G ต่อไป โดยจะสร้างเสาสัญญาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในปีนี้จะลงทุนสร้างเสาสัญญาณเพิ่มอีก 4-5 พันต้น เพื่อทำให้สิ้นปีนี้จะมีเสาสัญญาณจำนวน 2.5 หมื่นต้น เพื่อเป็นการปรับปรุงคุณภาพโครงข่ายรองรับการใช้งานของลูกค้า รวมถึงเป็นการรองรับการสิ้นสุดของสัญญาสัมปทาน

นายนอร์ลิ่ง กล่าวอีกว่า สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทคาดว่าน่าจะทำได้ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนที่มีรายได้ 7.87 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิ 2.11 พันล้านบาท เป็นไปตามการเติบโตของลูกค้ารายเดือนที่น่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาที่มีการเติบโตราว 2% ขณะที่ลูกค่าเติมเงินปรับตัวลดลง

ส่วนการลงทุนบริษัทวางงบลงทุนรวม 7 หมื่นล้านบาท (ปี 59-61) ซึ่งจะใช้ลงทุนต่อปีเฉลี่ย 2 หมื่นล้านบาท ในการขยายโครงขยายอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครอบคลุมประชากรตามเป้าหมายที่วางไว้

ขณะที่วาระการประชุมผู้ถือหุ้นในวันนี้อนุมัติจ่ายเงินปันผลปี 60 ในอัตรา 0.24 บาทต่อหุ้น หรือ 24% ของกำไรสุทธิ ซึ่งปรับตัวลดลงจากปี 59 ที่จ่ายในอัตรา 0.42 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็น 48% ของกำไรสุทธิ เนื่องจากบริษัท ต้องการเก็บเงินสดไว้บางส่วนเพื่อใช้ในการขยายธุรกิจต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ