นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) กล่าวว่า บริษัทวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อการเติบโตในอนาคต โดยวางเป้าหมายจะทำดีลซื้อกิจการและร่วมลงทุน (M&A) ในโรงงานปิโตรเคมีเพื่อต่อยอดธุรกิจ ซึ่งเน้นในภูมิภาคอาเซียน คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 600-800 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้ได้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย และภาษี (EBIT) ราว 100 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการทำ M&A ภายในปี 63 ซึ่งคาดว่าจะสรุปดีล M&A ในประเทศได้อย่างน้อย 1 ดีลภายในปีนี้
ทั้งนี้ การทำดีล M&A อยู่ภายใต้โปรแกรม GALAXY ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ก้าวต่อไปอย่างยั่งยืนตามแผน Power Three ที่ประกอบด้วย Power of Growth ,Power of Digital และ Power of People
Power of Growth ซึ่งนอกเหนือจากโปรแกรม GALAXY แล้วยังประกอบด้วย MARS ซึ่งจะเป็นการลงทุน 1-1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสร้างโรงงานอะโรเมติกส์ ขนาด 1.3 ล้านตัน/ปี แบ่งเป็น พาราไซลีน 1 ล้านตัน/ปี และเบนซีน 3 แสนตัน/ปี คาดว่าจะเริ่มผลิตในไตรมาส 4/65 จะสร้างอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนราว 13-15% ,Everest forever ซึ่งเป็นโครงการที่จะดำเนินการต่อจากโครงการ EVEREST เพื่อเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรในทุกด้านที่แล้วเสร็จในปีที่ผ่านมา โดยจะรักษาความยั่งยืนของ EVEREST ให้มีความต่อเนื่องเพื่อสร้าง EBIT ให้ได้ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 63
Power of Digital ภายใต้โปรแกรม โครงการ IRPC 4.0 ลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อนำมาพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัท คาดว่าจะสร้าง EBIT ราว 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 63 และ Power of People ซึ่งเป็นการสร้างบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต
นายสุกฤตย์ กล่าวว่า เบื้องต้นตามแผนกลยุทธ์ดังกล่าวจะช่วยสร้าง EBIT ได้รวม 300 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 63 ซึ่งจะสนับสนุนให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี ,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ได้ตามเป้า 2.9 หมื่นล้านบาทในปี 63 จาก 2 หมื่นล้านบาทในปี 60
นายสุกฤตย์ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในปีนี้เชื่อว่าจะเป็นปีที่ดีที่สุดของบริษัท หลังจากที่จะรับรู้ผลการดำเนินได้เต็มปีจากโครงการที่แล้วเสร็จในปีที่แล้วทั้งโครงการ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ (UHV) ของโรงกลั่นและการขยายกำลังการผลิตโพลีโพรพิลีน (PP) อีก 3 แสนตัน/ปี และโรงไฟฟ้าไออาร์พีซี คลีน เพาเวอร์ ขนาด 240 เมกะวัตต์แล้วเสร็จ ประกอบกับในปีนี้ไม่มีการหยุดซ่อมบำรุงโรงงานเหมือนในปีก่อน โดยเฉพาะในส่วนของโรงกลั่นน้ำมัน คาดว่าจะเดินเครื่องกลั่นน้ำมันได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่กว่า 2.1 แสนบาร์เรล/วัน จาก 1.8 แสนบาร์เรล/วันในปีที่แล้ว
นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาการจัดหาแหล่งเงินกู้เพิ่มเติมเพื่อใช้รีไฟแนนซ์หนี้ที่จะครบกำหนดราว 1 หมื่นล้านบาทในปีนี้ด้วย หลังจากในวันนี้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอยุมัติแผนจัดหาเงินกู้ 5 ปี ( ปี 61-65) ในวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทวางแผนจะใช้รองรับการชำระคืนหนี้ที่ครบกำหนด
ส่วนแนวโน้มกำไรปกติของบริษัทในไตรมาส 1/61 คาดว่าจะดีกว่าระดับ 2 พันล้านบาทในไตรมาส 4/60 หลังกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (GIM) ซึ่งไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมันจะสูงกว่าระดับ 14.30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในไตรมาสก่อน จากมาร์จิ้นโรงกลั่นที่ดีต่อเนื่องตามความต้องการใช้น้ำมันที่สูงขึ้น