ส่วนการที่รัฐบาลส่งสัญญาณจะไม่รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มเติมในช่วง 5 ปีนี้ไม่ได้มีผลต่อบริษัท เนื่องจากโครงสร้างรายได้หลักมาจาก โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติประเภทรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนรายเล็ก (SPP) กว่า 2,200 เมกะวัตต์ จากโครงการทั้งหมดที่มีสัญญาแล้วทั้งสิ้น 2,518 เมกะวัตต์ และบริษัทมีโอกาสในการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ เช่นโครงการพลังงานน้ำในสปป. ลาว โครงการสายส่งในกัมพูชาและเวียดนาม และโครงการพลังงานทดแทนในฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
อยากไรก็ตามหากบริษัทจะลงทุนโครงการพลังงานทดแทนในประเทศ จะต้องเป็นโครงการที่มีผลตอบแทนที่เหมาะสม เช่นโครงการโซลาร์ราชการ 31 เมกะวัตต์ ที่จะเปิดดำเนินการในปีนี้ โครงการขยะอุตสาหกรรม 5 เมกะวัตต์ ที่จะเปิดดำเนินการในปี 2562 หรือโครงการโซลาร์รูฟท็อป ในประเทศจำนวนประมาณ 40-70 เมกะวัตต์ ในรูปแบบการร่วมทุนกับผู้ให้บริการซึ่งดูแลกลุ่มลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศ และทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกลุ่มลูกค้าเหล่านี้ที่ระยะเวลา 15-20 ปี นอกจากนี้เพื่อให้โครงการโซลาร์รูฟท็อป ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและเพิ่มความมั่นคงของกระแสไฟฟ้า บริษัทได้ร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลก เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการกักเก็บพลังงาน Energy Storage และระบบ Smart Grid
"เป็นเพียงตัวอย่างของทิศทางการเติบโตของ BGRIM ที่เราสื่อสารมาตลอดว่าการเติบโตต้องเป็นการเติบโตที่มีคุณภาพ โดยหากรัฐบาลยังไม่พร้อมที่จะเปิดรับซื้อพลังงานทดแทน BGRIM ยังสามารถเติบโตได้ในต่างประเทศที่ยังมีความต้องการไฟฟ้าอีกมาก และต้องการความเชี่ยวชาญจากผู้พัฒนาตัวจริงอย่าง BGRIM เข้าไปมีส่วนร่วม"นางปรียนาถ กล่าว
นางปรียนาถ กล่าวด้วยว่า โครงการ SPP ที่บริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และมีสัญญาซื้อขายกับภาคอุตสาหกรรมในประเทศ ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เนื่องจาก SPP สามารถขายตรงให้กับลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่โดยรอบในรูปแบบของ Distributed Generation Unit ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่จะเปิดให้มีการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในรูปแบบของ SPP Power Pool เพื่อรองรับการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีคุณภาพและมีเสถียรภาพด้วย ปัจจุบันลูกค้าของบริษัทตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น อมตะนคร อมตะซิตี้ระยอง บางกะดีและเหมราชฯ
ส่วนแผนงานของบริษัทในปี 2561 บริษัทมีโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและมีแผนเปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์ 11 โครงการ รวมกำลังผลิต 445 เมกะวัตต์ คิดเป็นการเติบโตกว่า 27% โดยโครงการ SPP ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ได้ประเดิมเปิดดำเนินการเป็นโครงการแรกไปแล้วเมื่อ 1 ก.พ.61 และโครงการอื่น ๆ ก็ยังเป็นไปตามแผนที่บริษัทวางไว้