โบรกเกอร์ ต่างเห็นพ้องแนะนำ"ซื้อ"หุ้นบมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) คาดว่ากำไรและรายได้ปีนี้เติบโตจากปีก่อน หลังภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนจากตัวเลขนักท่องเที่ยวในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.61 เติบโตถึง 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักของ"ไทยแอร์เอเชีย"ประกอบกับยอดจองตั๋วโดยสารในไตรมาส 2/61 ก็ยังมีโมเมนตัมดีต่อเนื่อง
ทั้งนี้ รายได้และกำไรของ AAV ในปีนี้คาดว่าจะเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักจากปีก่อน ตามจำนวนผู้โดยสารที่คาดว่าจะเติบโต 17% มาที่ 23.2 ล้านคน ขณะเดียวกันการแข่งขันของตลาดในประเทศลดลง เพราะคู่แข่งอย่างนกแอร์ลดจำนวนเที่ยวบินเพื่อแก้ปัญหาดีเลย์ ไลอ้อนแอร์ก็นำเครื่องบินเส้นทางในประเทศไปให้บริการเช่าเหมาลำไปจีนแทน ฉะนั้นโอกาสจึงเป็นของ ไทยแอร์เอเชีย ซึ่งจะผลักดันให้ราคาค่าตั๋วโดยสาร และส่วนแบ่งการตลาดในปีนี้ดีขึ้น
ส่วนความกังวลเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นมองเป็นความเสี่ยง แต่ถูกชดเชยจากค่าเงินบาทแข็งค่า เพราะต้นทุนของไทยแอร์เอเชียประมาณ 60% เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ
ราคาหุ้น AAV ปีนี้ลดลงไป 7.3% นับจากต้นปีซึ่งสะท้อนความกังวลต่อต้นทุนน้ำมันที่มากเกินไป เมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งทำให้มีความน่าสนใจในการลงทุน
พักเที่ยงหุ้น AAV อยู่ที่ 5.70 บาท ลดลง 0.05 บาท หรือ 0.87% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยเพิ่มขึ้น 0.44%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย(บาท/หุ้น) หยวนต้า (ประเทศไทย) ซื้อ 7.40 เอเอสแอล ซื้อ 7.10 โนมูระ พัฒนสิน ซื้อ 7.00 ฟิลลิป (ประเทศไทย) ซื้อ 6.70
นายสยาม ติยานนท์ นักวิเคราะห์การลงทุนด้านหลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) คงคำแนะนำ"ซื้อ" หุ้น AAV ที่ราคาเป้าหมาย 6.70 บาท เนื่องจากคาดว่ารายได้และกำไรของ AAV ในปีนี้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นผลจากการฟื้นตัวการท่องเที่ยว หลังจากรับผลกระทบทัวร์ศูนย์เหรียญตั้งแต่ไตรมาส 4/59 จนถึงครึ่งแรกปี 60 โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวในช่วง 2 เดือนแรกของปี 61 เติบโต 15% โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนเติบโตกว่า 30% ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนถือเป็นผู้โดยสารอันดับ 2 ของไทยแอร์เอเชีย รองจากผู้โดยสารในประเทศ
ประเมินว่าในปี 61 รายได้ AAV จะเติบโต 16.9% มาที่ 4.3 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1.87 พันล้านบาทเติบโต 26.9% จากปีก่อน เป็นการเติบโตตามจำนวนผู้โดยสารที่ AAV คาดว่าจะเติบโต 17% มาที่ 23.2 ล้านคน ขณะเดียวกันการแข่งขันตลาดในประเทศลดลง โดยนกแอร์และไทยไลอ้อนแอร์ลดจำนวนที่นั่งเส้นทางในประเทศ ทำให้คาดว่าในปีนี้ ส่วนแบ่งตลาดในประเทศของไทยแอร์เอเชียจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 31% ประกอบกับ ราคาขายตั๋วโดยสารปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4-5% จากปีก่อนอยู่ที่ 1,500 บาท/ที่นั่ง เนื่องจากการแข่งขันตัดราคาน้อยลง
อย่างไรก็ดี ก็ยังมีความกังวลเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นซึ่งเป็นความเสี่ยง แต่น่าจะถูกชดเชยจากค่าเงินบาทแข็งค่า เพราะต้นทุนของไทยแอร์เอเชียประมาณ 60% เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ก็จะช่วยชดเชยได้ และบางส่วน AAV ก็ได้ทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันไว้
ด้าน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ คาดว่ากำไรปกติของ AAV ในไตรมาส 1/61 จะอยู่ที่ 665 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56% จากงวดปีก่อน และ 66% จากไตรมาสก่อน แม้ราคาน้ำมันเครื่องบินจะปรับขึ้นมา 21% จากงวดปีก่อน และ 10% จากไตรมาสก่อนก็ตาม เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารและราคาตั๋วเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากกว่าต้นทุน รวมถึงค่าเงินบาทแข็งค่าช่วยชดเชยต้นทุนราคาน้ำมันที่สูงขึ้นได้
ส่วนแนวโน้มไตรมาส 2/61 ยังมีโมเมนตัมเป็นบวกต่อเนื่อง หนุนจากยอดจองตั๋วล่วงหน้า (Advance booking) ในเดือน เม.ย.มากกว่า 50% รับอานิสงส์จากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนและอินเดีย ซึ่งเป็น 2 กลุ่มลูกค้าต่างชาติอันดับแรกของ AAV ยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยสถิติล่าสุดช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นถึง 32% จากงวดปีก่อน และ 19% จากไตรมาสก่อน
นอกจากนี้ แม้เข้าช่วงช่วงโลว์ซีซั่น แต่คาดค่าโดยสารเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 3-5% จากงวดปีก่อน เนื่องจากจำนวนที่นั่งรวมของเส้นทางบินในประเทศปีนี้ลดลง 2% เมื่อเทียบปีต่อปี จากการปรับมาทำตลาดเชิงรุกในเส้นทางระหว่างประเทศ ซึ่งหากการดำเนินงานเป็นไปตามคาดจะทำให้ประมาณการมี Upside risk จากสมมติฐานราคาตั๋วโดยสารทั้งปีที่ 1,500 บาท/ที่นั่ง เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับปีก่อน
ทั้งนี้ ประมาณการกำไรปกติของ AAV ในปีนี้ที่ 1.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อน โดยมี Upside risk หากราคาตั๋วเฉลี่ยเติบโตมากกว่า 3% และราคาหุ้นนับตั้งแต่ต้นปีก็หดตัวลง สะท้อนความกังวลต่อต้นทุนน้ำมันที่มากเกินไป เมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง
บทวิเคราะห์ บล.เอเอสแอล ระบุว่ายังคงมุมมองเชิงบวกต่อ AAV ซึ่งคาดว่ากำไรสุทธิไตรมาส 1/61 จะอยู่ที่ 668 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากในช่วงไตรมาส 1/61 เป็นช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวทั้งไตรมาส โดย Highlight สำคัญอยู่ที่อัตราค่าโดยสารเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นกว่า 10% จากไตรมาสก่อน ขณะที่ต้นทุนเชื้อเพลิงไม่ได้ปรับเพิ่มมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากช่วยลดผลกระทบลงส่วนหนึ่ง ทำให้คาดว่าต้นทุนต่อปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร(Cost per ASK) เพิ่มขึ้น 3.3% จากไตรมาสก่อน ส่งผลให้ทั้งปี 61 ยังคงประมาณการกำไรสุทธิที่ 1.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อน อย่างไรก็ตามความกังวลต่อต้นทุนเชื้อเพลิงที่ปรับเพิ่ม สะท้อนไปในราคาหุ้นในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่เชื่อว่าราคาหุ้นที่มี Downside จำกัด จากมุมมองเชิงบวกต่อภาพรวมการท่องเที่ยว ประกอบกับการคาดหมายกำไรสุทธิปี 61 ที่ยังเชื่อว่าจะยังแข็งแกร่งต่อเนื่อง ทำให้ยังคงแนะนำ"ซื้อ"เช่นเดิม