นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บล. เคทีบี (ประเทศไทย) หรือ KTBST เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลงอีกครั้ง นำโดยตลาดสหรัฐฯ หลังจากความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าที่ดูเหมือนจะเริ่มคลี่คลายลงไปแล้ว ได้กลับมาสร้างความกดดันให้กับตลาดอีกครั้ง หลังจากสหรัฐฯ เตรียมพิจารณาเก็บภาษีเพิ่มในสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่าราว 1 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่รายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรออกมาน่าผิดหวัง เพิ่มขึ้น 103,000 ตำแหน่ง จากที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 193,000 ตำแหน่ง ประกอบกับตัวเลขอัตราการว่างงานออกมาทรงตัวที่ระดับ 4.1% น้อยกว่าที่ตลาดคาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 4.0% ฉุดให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ อย่าง ยูโร และเยน เป็นต้น
ปัจจัยที่ต้องติดตามคือรายงานการประชุมนโยบายทางการเงิน (FOMC Minutes) ในวันที่ 12 เมษายน เพื่อจับตาดูสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดได้ออกมากล่าวว่า เฟดอาจจำเป็นต้องเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย และรายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ คาดว่าจะออกมาที่ 2.4% เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้าที่ 2.2% และรายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งคาดว่าจะออกมาที่ 2.1% เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้าที่ 1.8%
โดยทิศทางของตลาดหุ้นสัปดาห์นี้ (9-12 เม.ย.) ประเมินกรอบดัชนีฯที่ 1,710-1,750 จุด โดยตลาดมีตัวแปรในทางลบเข้ามาทำให้ นักลงทุนชะลอการลงทุนก่อนเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาว อีกทั้ง ดัชนีฯที่หลุด 1,750 จุดลงมา สร้างสัญญาณขายให้กับตลาด แม้จะมีโอกาสรีบาวด์ แต่หากไม่มีปัจจัยบวกเข้ามาหนุนตลาด ดัชนีฯก็จะเดินหน้าไปได้ไม่ไกลนัก ขณะที่ตัวแปรในทางลบหลายตัว จะจำกัดกรอบการสูงขึ้นของดัชนีฯไว้ ดังนั้น ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อตลาดสัปดาห์นี้จะเป็นสงครามการค้าของสหรัฐฯ-จีน ที่เปิดฉากอีกครั้ง แม้ประเมินว่าน่าจะจบลงด้วยการเจรจาก็ตาม รวมถึงการประกาศวันเลือกตั้งของไทยที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเลื่อนหรือไม่ และความกังวลต่อข่าวลบ ของแต่ละกลุ่ม อาทิ ธนาคาร โรงกลั่นน้ำมัน และราคาน้ำมันดิบที่อ่อนตัวลง เป็นต้น
ดังนั้น กลยุทธ์ลงทุนสัปดาห์นี้ แม้ดัชนีฯจะอ่อนตัวลงมามาก แต่ยังมีความผันผวนและทิศทางที่ไม่ชัดเจน ขณะเดียวกันกลุ่มหุ้นที่มีโอกาสเดินหน้าต่อได้ยังมีไม่มาก การเข้าลงทุนจึงต้องพิจารณาเป็นรายตัว และลงทุนในกรอบเวลาสั้นๆ โดยเฉพาะในหุ้นขนาดใหญ่ที่ราคาอ่อนตัวลงมาและมีปัจจัยบวกหนุนอย่าง AOT , CPALL , CPN และหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผลในอัตราที่สูงเ ช่น LH และหุ้นที่มีปัจจัยบวกอื่นๆ ประกอบด้วย CPF และ TOA