นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) เปิดเผยถึงกรณีที่รัฐบาลกำหนดนโยบายการงดซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใหม่เป็นระยะเวลา 5 ปีว่า ประเด็นดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัท เนื่องจากบริษัทมีแผนขยายการผลิตไปยังต่างประเทศ ซึ่งมีความต้องการใช้ไฟฟ้าจากการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐในประเทศนั้น โดยได้ขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าไปยังต่างประเทศ เช่น โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น ขนาด 200 เมกะวัตต์, โครงการพลังแสงอาทิตย์ที่ประเทศมาเลเซีย ขนาด 30 เมกะวัตต์ ,โครงการประเภทเชื้อเพลิงแก๊สที่ประเทศเมียนมา ขนาด 25 เมกะวัตต์
นอกจากนี้บริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนเพิ่มเติมทั้งที่ประเทศมาเลเซีย เมียนมา และเวียดนามเนื่องจากเชื่อว่าความต้องการและนโยบายภาครัฐของประเทศดังกล่าว ยังคงให้การสนับสนุนด้านพลังงานทดแทน อันเนื่องจากต้นทุนที่ถูกลงและมีความจำเป็นในการต้องขยายสัดส่วนความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจและความต้องการใช้พลังงาน
ขณะเดียวกันบริษัทมุ่งลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าภาคเอกชนประเภทติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) และแบบติดตั้งบนภาคพื้นดิน (Solar Ground) ภายในประเทศ เพื่อลดต้นทุนด้านภาคประกอบการและเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน โดยปีนี้บริษัทมุ่งเน้นลงทุนติดตั้งโรงไฟฟ้าบนหลังคา ให้กับภาคเอกชนแบบให้ส่วนลดและสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบระยะยาว (Private PPA) ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายการขยายตัวสำหรับ Solar Rooftop ภาคเอกชนในปีนี้ประมาณ 50-100 เมกะวัตต์
นางสาวโศภชา กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ในปีนี้ 180 เมกะวัตต์ พร้อมตั้งเป้ารายได้โตไม่ต่ำกว่า 30% และยังคงเป้าที่จะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ครบ 1,000 เมกะวัตต์ในปี 2563
"ถือเป็นโอกาสที่นักลงทุนจะได้ใช้วิจารณญาณในการลงทุน โดยศึกษาข้อมูลของบริษัท ซึ่งจะเห็นได้ว่าสัดส่วนรายได้ที่เติบโตขึ้นของพลังงานทดแทนจาการขยายการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าพลังงานลมและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในปีนี้ จะส่งผลให้บริษัทมีรายได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด และบริษัทยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาโครงการด้านพลังงานทดแทนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น มีอัตราเติบโตเป็นไปตามเป้าหมายตามที่กำหนด"นางสาวโศภชา กล่าว