นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บมจ.ซุปเปอร์บล๊อก (SUPER) เปิดเผยว่าในช่วงที่ผ่านมาได้เข้าซื้อหุ้น SUPER ในตลาดหลักทรัพย์ฯรวมจำนวน 60 ล้านหุ้น หลังจากที่ราคาหุ้นปรับลดลง ในระหว่างวันที่ 4-5 เม.ย.61 ซึ่งประเมินว่าเป็นโอกาสที่ดี เหมาะสำหรับการลงทุน นอกจากนี้ยังมั่นใจในศักยภาพและการเติบโตในอนาคตของบริษัทที่เกิดจากการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยแต่ละโครงการทยอยจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งยังมีสัมปทานการขายไฟฟ้าที่ราคา 5.66 บาทต่อหน่วยในระยะเวลา 23 ปี
"ผมขอให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทมั่นใจได้ว่าผมและผู้บริหารตลอดจนพนักงานทุกคนจะร่วมกันมุ่งมั่นทำงานตามแผนงานต่าง ๆ ที่วางเป้าหมายไว้ เพื่อทำให้ SUPER เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต และขอยืนยันว่าการเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้เป็นการลงทุนในระยะยาว หากมีจังหวะหรือโอกาสที่ดีก็พร้อมที่จะเข้าซื้อหุ้นเพิ่มเติมอีก ส่วนปัจจุบันก็ถือว่าราคาหุ้นต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานค่อนข้างมาก จึงเหมาะสำหรับการเข้าลงทุนในช่วงนี้"นายจอมทรัพย์ กล่าว
นายจอมทรัพย์ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 740.60 เมกะวัตต์ (MW) ที่จะทยอย COD ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าขยะกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดสระแก้ว ,โครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์เฟส 2 กำลังการผลิต 28 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม เป็นต้น
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าขยะ ขนาด 9.9 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนก่อสร้างราว 1,300 ล้านบาท นั้น บริษัทมีเป้าหมายที่จะดำเนินการผลิตในเชิงพาณิชย์ ภายในช่วงเดือนเม.ย.61 ซึ่งได้รับการสนับสนุนวงเงินกู้จากธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) จำนวน 900 ล้านบาท โดยอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในส่วนของทุน (EIRR) อยู่ที่ 18-20 %
"นอกจากโครงการที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน SUPER ก็จะเข้าร่วมประมูลโครงการต่อเนื่อง ไม่ว่าจะโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการและสหกรณ์,การซื้อขายไฟฟ้าในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ SPP Hybrid Firm รวมไปถึงแผนในการขายไฟฟ้าโดยตรงให้กับลูกค้าในลักษณะ Private PPA ก็น่าจะเริ่มดำเนินการต่างๆที่เกี่ยวข้องประมาณปี 2561 เช่นกัน"
นายจอมทรัพย์ คาดว่าปีนี้จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมอยู่ที่ 800-900 เมกะวัตต์ รวมทั้งมองหาโอกาสในการซื้อกิจการธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น นอกเหนือโครงการในปัจจุบัน โดยจะเลือกลงทุนเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเท่านั้น ซึ่งมีประเทศกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มประเทศใน CLMV รวมถึงมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น จีน และออสเตรเลีย เพื่อผลักดันให้บริษัทก้าวสู่ความเป็นผู้นำธุรกิจพลังงานทดแทนในภูมิภาคเอเชียภายในปี 63 ตามเป้าหมาย