ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
โรงไฟฟ้าของบริษัทมีการกระจายในหลายนิคมอุตสาหกรรม บริษัทเป็นเจ้าของและเป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าจำนวน 31 แห่งทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศด้วยกำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,779 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนที่บริษัทถือหุ้นรวมเท่ากับ 1,008 เมกะวัตต์ โดยไม่มีโรงไฟฟ้าใดเลยที่มีสัดส่วนกำลังการผลิตเกิน 10% ของกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมของบริษัท
โรงไฟฟ้าของบริษัทเป็นโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิมซึ่งใช้พลังงานฟอสซิลคิดเป็นสัดส่วน 92% ของกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม โดยจำแนกเป็นโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซพลังงานความร้อนร่วมจำนวน 13 โครงการซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมและสวนอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ อมตะนคร (ชลบุรี) อมตะซิตี้ (ระยอง) แหลมฉบัง บางกะดี และเหมราช และโรงไฟฟ้าพลังงานดีเซลอีก 1 แห่งซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ (เบียนหัว) ประเทศเวียดนาม ในขณะที่กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมอีก 8% เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 15 โครงการในประเทศไทยและโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำจำนวน 2 โครงการในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว)
ลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของบริษัทคือ กฟผ. ในช่วงปี 2558-2560 บริษัทมีรายได้จาก กฟผ. คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 52%-61% ของรายได้ทั้งหมด ส่วนรายได้จากการขายไฟฟ้าและไอน้ำให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมในประเทศไทยคิดเป็น 32% และที่เหลือเป็นรายได้จากการขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้าแห่งประเทศลาว หรือ Electricite du Laos (EDL)
ในปี 2560 บริษัทมีรายได้ประมาณ 31,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 27,700 ล้านบาทในปี 2559 โดยรายได้ที่เติบโตขึ้น 13% เป็นผลมาจากการเปิดดำเนินการเต็มปีของโรงไฟฟ้า 2 แห่งซึ่งดำเนินงานโดย บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (ดับบลิวเอชเอ) 1 จำกัด และ บริษัท อมตะ บี. กริม เพาเวอร์ 5 จำกัด กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทอยู่ที่ระดับประมาณ 8,700 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจาก 7,500 ล้านบาทในปี 2559
กระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว
บริษัทมีกระแสเงินสดที่ค่อนข้างแน่นอนและสม่ำเสมอเนื่องจากโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ของบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. ซึ่งมีอายุสัญญานานประมาณ 21-25 ปี สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ช่วยลดความเสี่ยงด้านการตลาดเนื่องจาก กฟผ. ตกลงรับซื้อไฟฟ้าขั้นต่ำจำนวนไม่ต่ำกว่า 80% ของกำลังการผลิตตามสัญญาซึ่งคำนวณจากจำนวนชั่วโมงที่สามารถดำเนินงานได้ นอกจากนี้ สัญญาซื้อขายไฟฟ้ายังมีกลไกส่งผ่านภาระค่าก๊าซอีกด้วย
บริษัทยังมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและสัญญาซื้อขายไอน้ำกับลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมหลายรายซึ่งกระจายตัวอยู่ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ด้วย เช่น ยานยนต์ บรรจุภัณฑ์ และสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น โดยสัญญามีอายุระหว่าง 5-15 ปีและมีการระบุปริมาณรับซื้อขั้นต่ำ ในส่วนของอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับลูกค้าอุตสาหกรรมนั้นจะอิงกับอัตราค่าไฟฟ้าของ กฟภ. ที่จำหน่ายให้แก่กิจการขนาดใหญ่ซึ่งโดยทั่วไปจะมีการปรับราคาเพื่อสะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงผ่านค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่า Ft โครงการโรงไฟฟ้า SPP ของบริษัทยังมีสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ระยะเวลา 21-25 ปีซึ่งเท่ากับอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่บริษัทมีกับ กฟผ. ด้วย
โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นจำนวน 59 เมกะวัตต์ ทุกโครงการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะเวลา 25 ปีกับ กฟภ. ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Very Small Power Producer -- VSPP) โดยได้รับอัตราค่าไฟฟ้าคงที่จำนวน 5.66 บาทต่อหน่วย (กิโลวัตต์-ชั่วโมง) โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ 2 แห่งของบริษัทซึ่งตั้งอยู่ในประเทศลาวมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นขนาด 14 เมกะวัตต์มีสัญญาขายไฟฟ้าให้แก่ EDL ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะเวลา 25 ปี โดยมีอัตราค่าไฟฟ้าคงที่ที่ 0.065 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อหน่วย
ผลงานการดำเนินงานโรงไฟฟ้าที่ได้รับการยอมรับ
โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมของบริษัทมีดัชนีความพร้อมอยู่ในระดับสูงเนื่องจากมีการหยุดซ่อมนอกแผนงานน้อย โดยโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ของบริษัทเลือกใช้เทคโนโลยีที่ผ่านการพิสูจน์แล้วจากผู้ผลิตชั้นนำ เช่น Siemens และ GE และมีอัตราความร้อนดีกว่าเกณฑ์ที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาโรงไฟฟ้ามีดัชนีความพร้อมประมาณ 90%-99% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและอัตราความร้อนของโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งก็อยู่ในระดับที่ดีกว่าที่ระบุในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าด้วยเช่นกัน ผลการบริหารงานที่ดีดังกล่าวแสดงถึงความสามารถของบริษัทในการพัฒนาและบริหารโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บริษัทมีศักยภาพในการเติบโต
ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2561 บริษัทมีกำลังการผลิตรวม 1,779 เมกะวัตต์ และภายในปี 2563 กำลังการผลิตของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,163 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นเท่ากับ 1,314 เมกะวัตต์ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ราว ๆ 12,000 ล้านบาทภายใน 3 ปีข้างหน้าหลังจากที่โครงการใหม่ ๆ เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ตามแผน
งบการเงินมีหนี้สินอยู่ในระดับสูง บริษัทมีสัดส่วนหนี้สินอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ ณ สิ้นสุดปี 2560 บริษัทมีเงินกู้รวมจำนวน 57,900 ล้านบาท (รวมภาระจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ -- ABPIF) และมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเท่ากับ 69% ในช่วงปี 2561-2563 คาดว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนประมาณปีละ 8,800-11,200 ล้านบาทและอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะยังคงอยู่ในระดับสูงในปี 2562-2563 ที่ประมาณ 65%-67% อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะปรับตัวดีขึ้นเป็น 5 เท่าจาก 6.7 เท่าในปี 2560 สภาพคล่องของบริษัทอยู่ในเกณฑ์ดี โดยบริษัทมีเงินสดจำนวน 18,200 ล้านบาท ณ สิ้นสุดปี 2560 และจะมีภาระต้องชำระคืนหนี้ประมาณปีละ 4,300-5,700 ล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า
แนวโน้มอันดับเครดิต แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าการดำเนินงานโรงไฟฟ้าของบริษัทจะยังคงราบรื่นตามแผน โดยที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายภาษีค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะเพิ่มขึ้นตามการเปิดดำเนินงานของโครงการโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ๆ อีกทั้งโครงสร้างเงินทุนก็คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปัจจุบัน
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นหากสถานะทางการเงินของบริษัทดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในขณะเดียวกัน อันดับเครดิตก็อาจปรับลดลงในกรณีที่ผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญจากการก่อหนี้เพิ่มจำนวนมากสำหรับการลงทุนขนาดใหญ่