ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 1.6 หมื่นลบ. KTC ที่ระดับ "A+" แนวโน้ม "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 9, 2018 13:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บมจ. บัตรกรุงไทย (KTC) ที่ระดับ "A+" ในขณะเดียวกันยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 16,000 ล้านบาท อายุไม่เกิน 10 ปีของบริษัทที่ระดับ "A+" ด้วยเช่นกัน

อันดับเครดิตสะท้อนถึงการยกระดับจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทในฐานะเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของธนาคารกรุงไทย (KTB) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

ทั้งนี้ อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทได้รับการสนับสนุนจากผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและความสามารถในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพของบริษัทด้วยเช่นกันซึ่งส่งผลทำให้ฐานะทางการเงินของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากสภาพการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น รวมทั้งความเสี่ยงจากการปรับปรุงเกณฑ์การกำกับดูแลในอุตสาหกรรมสินเชื่อเพื่ออุปโภคและบริโภคที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

การสนับสนุนจากธนาคารกรุงไทย

บริษัทบัตรกรุงไทยมีธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 49.45% โดยบริษัทได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมากจากธนาคารแม่ กล่าวคือ การเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มธนาคารกรุงไทยทำให้บริษัทได้รับความร่วมมือด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจที่สอดคล้องกับเครือธนาคารกรุงไทย โดยทางด้านความร่วมมือทางธุรกิจ บริษัทยังคงใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสาขาของธนาคารกรุงไทยที่มีอยู่ทั่วประเทศในการขยายฐานลูกค้า รวมถึงเป็นช่องทางการชำระเงินและให้บริการด้วย บริษัทบัตรกรุงไทยและธนาคารกรุงไทยยังได้ทำการตลาดร่วมกันอีกด้วย โดยสาขาของธนาคารกรุงไทยเป็นช่องทางหลักในการขยายฐานลูกค้า ประมาณ 46% ของบัตรเครดิตที่ออกใหม่ในช่วงปี 2558-2560 ได้รับการแนะนำจากธนาคารกรุงไทย ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 25% จากหลายปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับการสนับสนุนทางด้านเงินทุนอย่างต่อเนื่องจากธนาคารอีกด้วยเช่นกัน การสนับสนุนดังกล่าวช่วยเสริมสร้างสถานะที่สำคัญของบริษัทภายในเครือธนาคารกรุงไทยซึ่งสะท้อนถึงความเป็นไปได้ที่เพิ่มขึ้นที่บริษัทจะได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษจากธนาคารกรุงไทยเมื่อบริษัทร้องขอ

รักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจบัตรเครดิต

บริษัทมุ่งเน้นด้านการตลาดเชิงรุกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้บริษัทสามารถรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจบัตรเครดิตโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาด 13% ของสินเชื่อบัตรเครดิต และ 6% ของสินเชื่อส่วนบุคคลรวมในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ไม่รวมการเบิกเงินสดล่วงหน้าก็เติบโตอย่างต่อเนื่องโดยขยายตัว 8% และสูงกว่าอุตสาหกรรมที่ระดับ 6% ในปี 2560

ในส่วนของเงินให้สินเชื่อรวมของบริษัทก็เติบโตอย่างรวดเร็วจาก 48,080 ล้านบาทปี 2555 เป็น 73,488 ล้านบาทในปี 2560 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตสะสมโดยเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 9% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2560 สินเชื่อบัตรเครดิตคิดเป็นสัดส่วน 65.8% ของสินเชื่อรวมทั้งหมด ตามด้วยสินเชื่อส่วนบุคคล 33.7% และสินเชื่ออื่น ๆ อีก 0.5% นับเป็นความท้าทายของทีมผู้บริหารที่จะขยายพอร์ตสินเชื่อโดยยังคงควบคุมคุณภาพของสินทรัพย์ได้

คุณภาพสินทรัพย์ที่ดีและนโยบายการตั้งสำรองที่เข้มงวด

การบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตที่รัดกุมและระบบการจัดเก็บหนี้ที่มีประสิทธิภาพช่วยทำให้บริษัทมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีโดยจะเห็นได้จากการที่บริษัทสามารถรักษาอัตราส่วนสินเชื่อค้างชำระของบัตรเครดิต (เกิน 90 วัน) ต่อสินเชื่อบัตรเครดิตรวมให้อยู่ที่ระดับ 1.1% ได้ ณ สิ้นปี 2660 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 1.9% เช่นเดียวกันกับสินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งบริษัทรายงานอัตราส่วนสินเชื่อค้างชำระของสินเชื่อส่วนบุคคล (เกิน 90 วัน) ต่อสินเชื่อส่วนบุคคลรวมที่ระดับ 0.8% ณ สิ้นปี 2560 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 2.5% บริษัทมีนโยบายการตั้งสำรองที่เข้มงวดโดยกำหนดอัตราค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อรวมไว้ที่ระดับ 7.8% ณ สิ้นปี 2560 ซึ่งส่งผลให้สัดส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อค้างชำระ (เกิน 90 วัน) (NPL Coverage Ratio) เพิ่มขึ้นเป็น 589% ณ สิ้นปี 2560

แม้ว่าอัตราสินเชื่อค้างชำระจะมีแนวโน้มที่ลดลง แต่อัตราหนี้สูญตัดบัญชีของบริษัทกลับเพิ่มขึ้นจาก 9% ในปี 2558 มาเป็น 9.3% ในปี 2560 ในขณะเดียวกัน อัตราส่วนหนี้สูญได้รับคืนก็เพิ่มขึ้นเป็น 50.2% ในปี 2560 จาก 44.3% ในปี 2558 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทภายนอกที่เป็นตัวแทนติดตามหนี้สินจะสามารถบรรลุอัตราการจัดเก็บหนี้สินในระดับสูงในขณะที่ยังคงรักษาคุณภาพในการให้บริการที่ดีด้วยต้นทุนที่ควบคุมได้

ผลประกอบการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รายได้ของบริษัทเติบโตอย่างสม่ำเสมอเป็นผลมาจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้นที่ปรับตัวดีขึ้น การบริหารต้นทุนทางการเงิน และการให้ความสำคัญในการควบคุมค่าใช้จ่าย รวมทั้งหนี้สูญรับคืนจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิเท่ากับ 3,304 ล้านบาทในปี 2560 เพิ่มขึ้น 32% จากช่วงเดียวกันของปี 2559 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของบริษัท (ROAA) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.7% ในปี 2560

การสนับสนุนทางการเงินที่ได้รับจากธนาคารกรุงไทยช่วยเพิ่มสภาพคล่องระยะสั้น

จากการที่บริษัทสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายประกอบกับการสนับสนุนทางการเงินที่ได้รับจากธนาคารกรุงไทยจึงทำให้ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องระยะสั้นมิได้เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงมากนัก กล่าวคือ บริษัทมีเงินทุนที่ใช้สนับสนุนสภาพคล่องจากเงินกู้ที่ได้รับจากสถาบันการเงินหลายแห่งและจากหุ้นกู้ที่มีวันครบกำหนดชำระหนี้ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน โดยไม่มียอดเงินกู้จากสถาบันการเงินใดที่มีสัดส่วนสูงมากเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับยอดเงินกู้โดยรวม

ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2560 บริษัทมีเงินกู้ยืมทั้งสิ้น 53,423 ล้านบาท โดย 32% หรือ 17,338 ครบกำหนดชำระภายใน 1 ปี อย่างไรก็ตาม วงเงินกู้จากสถาบันการเงินหลายแห่งช่วยลดความเสี่ยงในระยะสั้น บริษัทยังได้รับวงเงินจากธนาคารกรุงไทยจำนวน 18,030 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้มีการเบิกใช้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2560 อีกด้วย การสนับสนุนทางการเงินที่ได้รับจากธนาคารกรุงไทยช่วยเพิ่มสภาพคล่องระยะสั้นให้กับทางบริษัท

ฐานทุนของบริษัทแข็งแกร่ง

ผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมาส่งผลให้ฐานทุนของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นซึ่งช่วยลดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้เหลือ 4.9 เท่า ณ สิ้นปี 2560 หากบริษัทคงนโยบายการจ่ายเงินปันผลและการลงทุนในอนาคตที่ระมัดระวัง ทริสเรทติ้งก็คาดหวังว่าบริษัทจะรักษาส่วนของผู้ถือหุ้นให้อยู่ในระดับนี้ได้ในอีก 2-3 ปี ข้างหน้า อย่างไรก็ตาม แผนการขยายปริมาณสินเชื่ออาจทำให้บริษัทมีการกู้เงินเพิ่มขึ้นและจะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นด้วย

ความเสี่ยงจากการปรับปรุงเกณฑ์การกำกับดูแล อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากสภาพการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในอุตสาหกรรมสินเชื่อเพื่ออุปโภคและบริโภค และภาวะเศรษฐกิจที่เพิ่งจะฟื้นตัว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินทรัพย์และความสามารถในการทำกำไรของบริษัท นอกจากนี้ การปรับปรุงเกณฑ์การกำกับดูแลของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2560 อาจจะกระทบต่อการจำกัดการขยายธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรของบริษัท

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดและแฟรนไชส์ที่แข็งแรง ตลอดจนคุณภาพสินทรัพย์ และอัตราส่วนโครงสร้างเงินทุน ณ ระดับปัจจุบันเอาไว้ได้ จากกลยุทธ์ทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ ภายใต้มาตรฐานการจัดเก็บและติดตามหนี้สินและการปล่อยสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าธนาคารกรุงไทยจะยังคงให้การสนับสนุนแก่บริษัททั้งในด้านการเงินและการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องต่อไปด้วย

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง การปรับเพิ่มขึ้นของอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทรักษา ROAA ในระดับปัจจุบันได้อย่างยั่งยืน รักษาส่วนแบ่งการตลาด ตลอดจนสามารถควบคุม NPL Coverage Ratio ได้อย่างเหมาะสมท่ามกลางความท้าทายจากแรงกดดันด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมสินเชื่อเพื่อการอุปโภคและบริโภค ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจเกิดขึ้นได้หากเกิดปัจจัยที่จะกระทบต่อธุรกิจและผลประกอบการทางการเงินโดยรวมของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ เช่น คุณภาพสินทรัพย์ที่ถดถอยลง หรือ การเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบทางด้านลบ

การเปลี่ยนแปลงมุมมองของทริสเรทติ้งต่อระดับของการให้การสนับสนุนจากธนาคารกรุงไทยหรือสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของธนาคารกรุงไทยที่เปลี่ยนแปลงไปก็จะมีผลกระทบต่ออันดับเครดิต/และหรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทได้เช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ