โบรกเกอร์แนะ"ซื้อ"หุ้นบมจ.ทิสโก้ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (TISCO) หลังคาดกำไรไตรมาส 1/61 จะเติบโตเมื่อเทียบกับงวดปีก่อน และในไตรมาสก่อน ผลักดันให้กำไรทั้งปีนี้เติบโตต่อเนื่อง รับปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัว ส่งผลดีต่อธุรกิจปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อและรายย่อย รวมถึงยังได้แรงหนุนจากฐานผู้ฝากเงินของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) หรือ SCBT ช่วยเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม หลังจากได้โอนธุรกิจรายย่อยจาก SCBT เข้ามาเมื่อต.ค.60 ขณะที่มองว่า TISCO จะได้รับผลกระทบน้อยสุดเมื่อเทียบกับแบงก์อื่นจากสงครามการแข่งขันลดค่าธรรมเนียมผ่านช่องทางดิจิทัล และกรณีการใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ที่จะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า
นอกจากนี้ยังมีมุมมองบวกจากการจะโอนขายลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลและธุรกิจบัตรเครดิตให้แก่ธนาคารซิตี้แบงก์ เอ็น.เอ.สาขากรุงเทพ เพราะนอกจากคาดว่าจะมีกำไรจากการขายแล้ว ยังเป็นการขายพอร์ตสินเชื่อที่ไม่ถนัด เพื่อมามุ่งเน้นในสินเชื่อที่มีความถนัดอย่างสินเชื่อเช่าซื้อ รวมถึงธุรกิจใหม่อย่างสินเชื่อที่อยู่อาศัย
พักเที่ยงราคาหุ้น TISCO อยู่ที่ 90.50 บาท เพิ่มขึ้น 1.75 บาท หรือ 1.97% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ปรับขึ้น 0.60%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หน่วย) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ซื้อ 100.00 บัวหลวง ซื้อ 96.00 หยวนต้า (ประเทศไทย) T-Buy 90.00 กสิกรไทย ซื้อ 105.00 เอเชีย เวลท์ ซื้อ 103.00 ฟิลลิป (ประเทศไทย) ซื้อ 96.00
นางวชิราลักษณ์ แสงเลิศศิลปชัย รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเชีย เวลท์ กล่าวว่า แนวโน้มกำไรสุทธิของ TISCO ในไตรมาส 1/61 จะอยู่ที่ 1.67 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 10% จากไตรมาสก่อน และ 12% จากงวดปีก่อน โดยการปรับขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากระดับการตั้งสำรองฯที่ลดลง เนื่องจากคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่งของธนาคารด้วยอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) ที่สูงถึง 197%
ขณะที่กำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากได้ปัจจัยบวกหลักจากสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นจากการรับโอนสินเชื่อธุรกิจรายย่อยจาก STBT นับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.60
"สินเชื่อเติบโตจากการไปซื้อสินเชื่อรายย่อยของ STBT เข้ามาช่วยเพิ่มฐานลูกค้ารายย่อย ซึ่ง TISCO ได้รับ Benefit ตรงนี้ นอกจากนี้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยก็จะเป็นช่วยหนุนสินเชื่อรถยนต์และรายย่อยด้วย"นางวชิราลักษณ์ กล่าว
นางวชิราลักษณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับ TISCO น่าจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากกรณีสงครามการแข่งขันลดค่าธรรมเนียมผ่านช่องทางดิจิทัลของกลุ่มแบงก์ เนื่องจากเป็นผู้ให้สินเชื่อรายย่อยและเช่าซื้อเป็นหลัก ส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียมนับว่ามีส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับแบงก์ขนาดใหญ่
นอกจากนี้ TISCO ยังมีความน่าสนใจจากการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการปี 60 ที่ 5 บาท/หุ้น คิดเป็นอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงถึงราว 5.7% โดยหุ้นจะขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 27 เม.ย.นี้
บทวิเคราะห์บล.กสิกรไทย ระบุว่าการที่ TISCO จะโอนขายสินเชื่อบุคคลและธุรกิจบัตรเครดิตแก่ธนาคารซิตี้แบงก์ เอ็น.เอ. สาขากรุงเทพฯ คาดว่าจะสามารถโอนย้ายสินเชื่อได้ในไตรมาส 4/61 โดยสินเชื่อที่จะโอนให้ธนาคารซิตี้แบงก์ ณ เดือนก.พ.61 มีสินเชื่อส่วนบุคคลมีมูลค่า 3.5 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.4% ของสินเชื่อรวมและสินเชื่อบัตรเครดิต 2.6 พันล้านบาทหรือ 1.1% ของสินเชื่อรวม ซึ่งคาดว่าข้อตกลงนี้ไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อคาดการณ์กำไรในปัจจุบัน เนื่องจากคาดว่าสินเชื่อ และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่ปรับลดลงจะชดเชยได้ด้วยค่าใช้จ่ายสำรองและต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำลง
ทั้งนี้ มีมุมมองต่อการขายพอร์ตสินเชื่อครั้งนี้ในเชิงบวก เนื่องจาก TISCO ไม่มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตทำให้การจะสามารถแข่งขันและได้รับส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจเหล่านี้ได้ จะมีต้นทุนที่สูงมากขณะที่เงินที่ได้จากข้อตกลงนี้จะทำให้ TISCO สามารถนำเงินไปปล่อยสินเชื่อในกลุ่มอื่น และช่วยลดความต้องการในการระดมทุนของ TISCO
สอดคล้องกับบทวิเคราะห์บล.บัวหลวง ที่เห็นว่า TISCO ได้ซื้อสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตดังกล่าวจาก SCBT ซึ่งต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (book value) ในไตรมาส 3/60 ทำให้คาดว่าจะมีการบันทึกกำไรจากการขายครั้งนี้ และดีลนี้จะเป็นบวกต่อ TISCO ที่จะสามารถเน้นสินเชื่อในส่วนที่ถนัด รวมถึงมีโอกาสที่จะปรับการกันสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ (loan loss provision) ลดลง ทำให้ปรับคำแนะนำขึ้นจาก "ถือ" เป็น "ซื้อ" ให้ราคาเป้าหมาย 96 บาท
ด้านบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ โดยมองว่าดีลการจะโอนขายสินเชื่อบุคคลและธุรกิจบัตรเครดิตแก่ธนาคารซิตี้แบงก์ เอ็น.เอ. สาขากรุงเทพฯ ครั้งนี้จะกระทบต่อกำไรสุทธิของ TISCO ในปี 61-63 เพียง 4-5% ต่อปี เนื่องจากพอร์ตถูกขายที่มูลค่าที่ตราไว้ ไม่มีพรีเมียมหรือส่วนลด ขณะที่การขายจะแล้วเสร็จในสิ้นไตรมาส 2/61 ทำให้ปรับลดสมมติฐานอัตราการเติบโตของสินเชื่อปี 61 เป็น 4% จากเดิม 7% ก่อนหน้า และปรับลดส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลง 7bps ประมาณการรายได้ในปี 62-63 ลดลงเช่นกัน
อย่างไรก็ตามคาดว่า TISCO จะยังเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปีนี้ โดยได้แรงหนุนจากการที่ผู้ฝากเงินของ SCBT ให้ความสำคัญกับธุรกิจบริหารความมั่งคั่งของ TISCO ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม โดยรวม TISCO วางแผนที่จะขยายธุรกิจสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่เข้าซื้อธุรกิจรายย่อยของ SCBT ซึ่งจะช่วยผลักดันให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ TISCO ยังมีอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพที่สูงมาก อยู่ที่ 188% เทียบกับ 140% ของอุตสาหกรรม และอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งหมดต่อสินทรัพย์เสี่ยง อยู่ที่ 20.7% เทียบกับ 17% ของอุตสาหกรรม ดังนั้น TISCO จะเป็นธนาคารที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดในประเทศไทยเมื่อ IFRS9 มีผลบังคับใช้ในปีหน้า