นายมาริโอ้ ซิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ฟูลเลอร์ตัน มาร์เก็ตส์ (ประเทศนิวซีแลนด์) ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลก คาดการณ์ว่าดัชนีหุ้นไทยปีนี้จะยืนอยู่ในระดับ 1,650 จุด โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน ที่กระทบต่อบรรยากาศการลงทุน ทำให้นักลงทุนเริ่มแสวงหาการลงทุนในตลาดพันธบัตร รวมถึงสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น ขณะที่ยังพบสัญญาณด้านเงินลงทุนจากต่างชาติที่ไหลเข้าสู่ประเทศไทยในปีนี้ ซึ่งมีแนวโน้มไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากในระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมาพบว่าผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ของประเทศต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค จากทั้งหมด 15 ประเทศ มีเพียง 4 ประเทศผลตอบแทนนั้นดีที่สุด และประเทศไทยคือ 1 ใน 4 ของประเทศเหล่านั้น
"ตอนนี้นักลงทุนมองหาสินทรัพย์ที่ปลอดภัย จึงเห็นเงินไหลออกจากตลาดหุ้นค่อนข้างมาก จากความตึงเครียดด้านการค้าของสหรัฐและจีน ซึ่งทำให้ตลาดตราสารหนี้ของไทยจึงได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เห็นได้จาก ไตรมาส 1/61 ที่ผ่านมา พบว่า มีเงินไหลออกจากหุ้นไทยเป็นอันดับ 3 ของตลาดหลักในเอเชีย หรือ มีเงินไหลออกประมาณ 1,900 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเงินที่ไหลออกนั้นวิ่งหาสินทรัพย์ปลอดภัย โดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ที่ยังให้ผลตอบแทนสูงถึง 2.4%"นายมาริโอ้ กล่าว
นายมาริโอ้ กล่าวว่า ระยะสั้นหรือ 3-6 เดือนข้างหน้า บรรยากาศในตลาดหุ้นไทยยังไม่หวือหวามากนัก เนื่องจากจะยังคงมีเงินไหลออกไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย โดยเฉพาะในตลาดพันธบัตร ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย แต่ในระยะยาว มองว่าดัชนีหุ้นไทยจะสามารถกลับมาอยู่ในช่วงขาขึ้นได้ โดยมีแรงสนับสนุนจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวดี โดยคาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปีนี้จะอยู่ที่ 4.1% จากปีก่อนที่ขยายตัวได้ 3.9% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออก และการท่องเที่ยวเป็นหลัก ประกอบกับยังต้องติดตามการตัดสินใจเรื่องนโยบายดอกเบี้ย ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับต่ำ หรือ 1.5% มาเป็นเวลานาน ซึ่งในปีนี้ก็ยังเชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามในส่วนของค่าเงินบาทนั้นคาดว่าจะเคลื่อนไหวที่ 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เพราะสกุลเงินบาทยังเป็นสกุลที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ความเสี่ยงที่ต่ำ ประเทศไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูง อีกทั้งการกำหนดนโยบายอัตราดอกเบี้ยอาจไม่เป็นปัจจัยสำคัญในการประเมินค่าเงินบาท แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกจะเพิ่มสูงขึ้นในปีหน้า แต่ยังมีเม็ดเงินไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ที่เป็นตัวสนับสนุนค่าเงินบาท
โดยค่าเงินบาทของไทยน่าจะเป็นประเทศที่มีผลการดำเนินงานที่ดีที่สุดในบรรดาสกุลเงินในเอเชีย เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีขนาดใหญ่และแนวโน้มการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น ปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้จะขยายไปสู่ช่วงครึ่งแรกของปี 61 เป็นอย่างน้อย สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้น ค่าเงินบาทยังไม่แสดงให้เห็นถึงความผันผวนของเงินเฟ้อแม้ว่าธปท.จะยังคงรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำ การเติบโตของการส่งออกของไทยมีความแข็งแกร่งซึ่งช่วยกระตุ้นการผลิต อย่างไรก็ตามความต้องการภายในประเทศโดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังคงซบเซา สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดการเกินดุลการค้า ซึ่งมีส่วนทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
นอกจากนี้ยังมีเงินทุนไหลสู่ตลาดตราสารหนี้ของไทยด้วย ส่วนหนึ่งมาจากการที่ธปท.คงอัตราดอกเบี้ยต่ำไว้ไม่เปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่ปี 58 ถึงปัจจุบัน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ชะงักลงและดึงให้เศรษฐกิจของภาคการส่งออกชะลอตัว ขณะเดียวกันทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในเดือนก.พ.อยู่ในราว ๆ ระดับสูงสุดของประวัติศาสตร์ ซึ่งนั่นบอกเป็นนัยว่ายังคงมีความต้องการอย่างสูงอันสอดคล้องกันของนักลงทุนชาวต่างชาติ ที่มีต่อสินทรัพย์อื่น ๆ ในประเทศไทย เห็นได้จากการที่เงินจากต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นไทยยังคงมีมาไม่ขาดสาย และการลงทุนต่าง ๆ ภายในประเทศเพื่อเข้าสู่ตลาดทุนของไทยจำนวนมากนั้นอาจเข้าไปยังตลาดตราสารหนี้ได้ เนื่องจากตลาดหุ้นไทยเริ่มมีความเสี่ยงจากภาวะความตึงเครียดด้านการค้าจีน-สหรัฐ
โดยตลาดตราสารหนี้ของไทยถือได้ว่ายังคงอยู่ในจุดที่เป็นดาวเด่น เพราะจากข้อมูล ในไตรมาสแรกของปีนี้เงินที่ไหลออกจากหุ้นไทยนั้นมากเป็นอันดับสามของตลาดหลักในเอเชีย เมื่อสัปดาห์ที่แล้วไหลออกเป็นจำนวน 95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะแตะ 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม เงินที่ไหลเข้าสู่ตราสารหนี้นั้นสูงมากเป็นอันดับสามของตลาดหลักๆในภูมิภาคเช่นกัน
"คาดการณ์ว่าในปีนี้ธนาคารกลางทั่วโลก เตรียมพร้อมที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้เป็นปกติหลังจากที่คงไว้ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดแรงดึงดูดใจต่อนักลงทุนชาวต่างชาติเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ของไทย เพราะในส่วนหุ้นระดับภูมิภาครวมถึงหุ้นไทยนั้นยังคงพบว่ายังเป็นไปได้ยากที่ราคาจะดีดตัวกลับอย่างมีนัยยะสำคัญ ความไม่แน่นอนอันเนื่องมาจากความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างจีน กับ สหรัฐ ไม่เพียงแต่จะเพิ่มแรงถ่วงต่อสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงและกระตุ้นให้เงินไหลเข้าสู่สินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย"