นายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัท (ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) เปิดเผยว่า บริษัทเคารพในการตัดสินใจหากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีข้อสรุปไม่ให้ขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) งวดสุดท้ายในปี 63 ออกไป ภายหลังจากที่เมื่อเดือนก.ย.60 บริษัทได้ยื่นหนังสือถึงคสช. ขอให้พิจารณาผ่อนผันการชำระค่าใบอนุญาตดังกล่าวออกไปเป็น 7 งวด โดยไม่มีดอกเบี้ย
แต่หากไม่ได้รับความช่วยเหลือ บริษัทก็มองว่าน่าจะส่งผลกระทบต่อแผนการลงทุนของบริษัท และแผนการเข้าประมูลคลื่นความถี่ใหม่ แต่อย่างไรก็ตามการเข้าประมูลคลื่นความถี่ ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการบริษัท อีกทั้ง ยังส่งผลกระทบต่อภาพรวมอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ในการลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่ เช่น IoT, IoE เป็นต้น เนื่องจากอุตสาหกรรมฯ ถือว่ามีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงส่งผลกระทบต่อภาคประชาชนในการเปลี่ยนผ่านคลื่นความถี่จาก 4G ไป 4.5G และ 5G
"ถ้าภาครัฐไม่ให้ผ่อนชำระค่างวดใบอนุญาต เราก็เคารพการตัดสินใจของภาครัฐ แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อแผนการลงทุน และโอกาสในการเข้าประมูลคลื่นในครั้งต่อไปพอสมควร เนื่องจากเราต้องสำรองเงินไว้ลงทุนในบริษัทในเครืออื่น ๆ อีก แต่ถ้าช่วยเหลือ เราก็จะมีโอกาสในการลงทุนได้ตามแผน"
สำหรับกรณีที่นักวิชาการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการช่วยเหลือกิจการโทรคมนาคม บริษัทยืนยันว่าข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้ทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ เป็นเพียงการขอขยายระยะเวลาการผ่อนชำระค่างวดใบอนุญาตคลื่นความถี่เท่านั้น ซึ่งบริษัทก็มีความยินดีที่จะจ่ายดอกเบี้ย ตามภาครัฐกำหนด
"รัฐไม่ได้เสียประโยชน์ เรายังคงจ่ายเงินให้ทั้งหมด และจ่ายดอกเบี้ยด้วย เพียงแต่เราขอขยายระยะเวลา ถ้ารัฐเลือกที่จะไม่ช่วยแน่นอนจะกระทบต่อการพัฒนา ซึ่งเทเลคอมต้องพัฒนาไปเรื่อย ๆ และมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง"นายวิเชาวน์ กล่าว
นายวิเชาวน์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 60 ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้ยื่นขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล เพราะราคาประมูลสูงกว่าราคาที่ตั้งไว้ 2 เท่า บริษัทจึงเห็นว่าเมื่อการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ที่ผ่านมามีราคาสูงกว่าราคาเริ่มต้นถึง 6 เท่า จึงน่าจะขอความช่วยเหลือจากรัฐได้ อีกทั้งรูปแบบการชำระเงินค่างวดใบอนุญาตในเอกสารเชิญชวนประมูล (TOR) ที่กำหนดให้แบ่งชำระเป็น 4 งวด ได้แก่ งวดที่ 1 ชำระ 50% หรือ 8,040 ล้านบาท, งวดที่ 2 ชำระ 25% หรือ 4,020 ล้านบาท, งวดที่ 3 ชำระ 25% หรือ 4,020 ล้านบาท และงวดสุดท้ายชำระที่เหลือทั้งหมดรวมดอกเบี้ย หรือราว 60,000 ล้านบาท ถือเป็นจำนวนที่สูงเกินคาดการณ์ ซึ่งหากมีการออกแบบ TOR ให้ดีกว่านี้อาจจะไม่ส่งผลกระทบกับเทคโนโลยีที่จะเข้ามา หรือการประมูลในครั้งต่อไป
"คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตของประเทศไทย ถือเป็นคลื่นความถี่ที่แพงที่สุดในโลกแล้ว"นายวิเชาวน์ กล่าว