CKP เผย"ไซยะบุรี"เริ่มทดสอบเดินเครื่องเร็วขึ้นช่วยลดต้นทุน,คาดสรุปเจรจาโครงการใหม่ในลาวปลายปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 10, 2018 18:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP) เปิดเผยว่า โครงการไซยะบุรี ขนาดกำลังการการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ จะสามารถทดสอบเดินเครื่องชุด 1 (Commissioning unit 1) ในเดือน พ.ย.61 เร็วขึ้นกว่าแผนเดิมที่กำหนดไว้ในเดือน ก.พ.62 และจะทยอยทดสอบเดินเครื่องชุดที่ 2-8 ต่อเนื่องทุก 2 เดือน จากนั้นคาดว่าจะสามารถจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ภายในเดือน ต.ค.62 ตามที่ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามกำหนดรับซื้อไฟฟ้าจาก CKP ราคาหน่วยละ 2.20 บาท ระยะเวลาสัญญา 31 ปี (ปี 62- 93)

ทั้งนี้ การทดสอบเดินเครื่องเร็วขึ้นกว่ากำหนดจะทำให้ต้นทุนโครงการลดลง จากที่มีอยู่ 1.3 แสนล้านบาท

นายธนวัฒน์ เปิดเผยว่า ในวันนี้ที่ประชุมผู้ถือหุ้น CKP มีมติอนุมัติให้บริษัทเข้าซื้อหุ้นบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (XPCL) จากบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) จำนวน 201.45 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 7.5% ของทุนจดทะเบียน มูลค่า 2,065 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้สัดส่วนที่ CKP ถือหุ้น XPCL เพิ่มเป็น 37.5% และจะทำให้ CKP รับรู้กำไรตามสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้น

รวมทั้งอนุมัติให้ชำระเงินค่าหุ้นตามสัดส่วนในไซยะบุรีฯ จนกว่าไซยะบุรีจะก่อสร้างแล้วเสร็จเป็นเงินประมาณ 399.20 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากการประเมินของบริษัท แคปปิตอล แอ๊ดแวนเทจ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาการเงินอิสระเกี่ยวกับรายการดังกล่าวระบุว่า XPCL จะมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี เฉลี่ยปีละ 1 หมื่นล้านบาท โดยช่วงท้ายสัญญาจะมีกำไรลดลง ซึ่ง CKP จะรับรู้กำไรตามสัดส่วนการถือหุ้น

นายธนวัฒน์ กล่าวว่า บริษัทมั่นใจจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายที่ 5,000 เมกะวัตต์ภายในปี 68 จากปี 61 มีกำลังการผลิตที่ 875 เมกะวัตต์ และปี 62 เพิ่มเป็น 2,160 เมกะวัตต์ หลังจากโครงการไซยะบุรีเริ่ม COD ขณะที่คาดว่าปลายปีนี้จะได้ข้อสรุปการเจรจากับรัฐบาลสปป.ลาว ในการลงทุนโครงการพลังงานน้ำอีก 1 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตมากกว่า 1 พันเมกะวัตต์

ฝ่ายบริหารคาดว่า โครงการพลังงานน้ำแห่งใหม่ที่กำลังเจรจากับรัฐบาลลาวนี้จะใช้แหล่งเงินทุนจากเงินทุนหมุนเวียน แม้ว่าต้องใช้เงินลงทุนสูงแต่ทยอยลงทุนเป็นเวลานาน ดังนั้นบริษัทจึงไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุน โดยช่วง 2 ปีแรกเป็นการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ และอีก 1 ปีเป็นช่วงเจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้า สัญญาสัมปทานกับรัฐบาลลาว และสัญญาเงินกู้ จากนั้นใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 7 ปี

"เรายังอยู่ระหว่างเจรจากับรัฐบาลลาว แต่กำลังใกล้จบ ทางรัฐบาลลาวขอให้เขาแถลงก่อน คาดว่าปลายปีนี้น่าจะมีผลสรุปจากรัฐบาลลาวออกมา...ในอนาคตสัดส่วนรายได้ของบริษัทจะมาจากพลังงานน้ำเกิน 50%" นายธนวัฒน์ กล่าว

นายธนวัฒน์ กล่าวว่า แม้บริษัทจะลงทุนโครงการพลังงานน้ำหลายแห่งใน สปป.ลาว ได้แก่ น้ำงีม 2 , ไซยะบุรี (ลุ่มน้ำโขง) แต่อยู่คนละลุ่มน้ำ จึงไม่เป็นความเสี่ยงด้านปริมาณน้ำต้นทุน นอกจากนี้บริษัทมองหาโอกาสลงทุนโครงการพลังงานน้ำในเมียนมาในระยะกลางและระยะยาว โดยจะพิจารณาด้านกฎหมายที่ยังเป็นความเสี่ยงอยู่

สำหรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย เชื่อว่ายังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการเติบโตของเศรษฐกิจ ขณะที่โรงไฟฟ้าของ กฟผ.เครื่องจักรเสื่อมโทรม ทำให้จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าใหม่เข้ามาทดแทน ประกอบกับ รัฐบาลอยู่ระหว่างการปรับแผน PDP ใหม่ได้มีการปรับสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน อีกทั้งไม่มีการเพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้าก๊าซ และไฟฟ้าพลังงานน้ำมีราคาถูก

ขณะเดียวกันบริษัทก็มีโอกาสที่จะมีไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนร่วม (Cogen) ซึ่งบริษัทได้มีข้อตกลงกับหลายนิคมอุตสาหกรรมและเตรียมพื้นที่รองรับโรงไฟฟ้า Cogen ไว้แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ