(เพิ่มเติม) TOP ยันยังไม่มีแนวคิดแตกพาร์ในระยะอันใกล้นี้,คาดสรุปผู้รับเหมาโครงการขยายกำลังกลั่นในกลางปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 11, 2018 14:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ยืนยันว่ายังไม่มีแนวคิดแตกพาร์จากระดับ 10 บาท/หุ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ ขณะที่ยังคงเดินหน้าดำเนินโครงการตามแผนเพื่อรองรับการลงทุนโครงการพลังงานสะอาด (Clean fuel Project : CFP) ซึ่งเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีเป้าหมายจะขยายกำลังการกลั่นน้ำมันเป็นระดับ 4 แสนบาร์เรล/วัน จาก 2.75 แสนบาร์เรล/วันในปัจจุบัน ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถคัดเลือกผู้รับเหมาได้ในช่วงกลางปีนี้

นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ TOP เปิดเผยว่า บริษัทยังไม่มีแนวคิดจะแตกมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) จากปัจจุบันที่อยู่ระดับ 10 บาท/หุ้น ประกอบกับ ขณะนี้ราคาหุ้นของบริษัทยังเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 บาท/หุ้น

"การแตกพาร์คงไม่ใช่ระยะเวลาอันใกล้นี้ ราคาหุ้นของเราก็ยังต่ำกว่า 100 บาท"นายอธิคม กล่าวตอบคำถามผู้ถือหุ้นในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2561 ในวันนี้

นายอธิคม กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มธุรกิจปีนี้ ในส่วนของธุรกิจโรงกลั่นยังมีทิศทางที่ดีจากภาวะเศรษฐกิจโลกและในประเทศที่ยังเติบโต ประกอบกับยังไม่มีกำลังผลิตใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดที่จะทำให้ปริมาณน้ำมันอยู่ในภาวะล้นตลาด โดยกลุ่มบมจ.ปตท.(PTT) ประเมินทิศทางราคาน้ำมันดิบ ดูไบ ในปีนี้ที่ราว 60-65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล สูงกว่าระดับเฉลี่ย 53.2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปีที่แล้ว

ขณะเดียวกันบริษัทยังมองโอกาสขยายตลาดน้ำมันไปยังกลุ่ม CLMV ที่มีความต้องการใช้น้ำมันในระดับสูง ที่แม้จะมีการแข่งขันอยู่บ้าง โดยเฉพาะโรงกลั่นน้ำมันในเวียดนามที่เพิ่งเดินเครื่องผลิต แต่ก็ยังไม่เพียงกับการใช้ภายในประเทศ และเวียดนามยังเป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิด้วย ประกอบกับบริษัทมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำก็เชื่อว่าจะแข่งขันในตลาด CLMV ได้

สำหรับธุรกิจปิโตรเคมี สายอะโรเมติกส์ ทั้งผลิตภัณฑ์พาราไซลีน (PX) และเบนซีน มีโอกาสถูกกระทบจากกำลังผลิตใหม่จากซาอุดิอาระเบีย และเวียดนาม ที่จะเข้ามาสู่ตลาด แต่ในส่วนของ PX อาจจะกระทบไม่มากเพราะความต้องการใช้อยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้น แต่ในส่วนของเบนซีน อาจจะถูกกระทบจากความต้องการใช้ที่เติบโตไม่มากเท่ากับกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นจากราคาเบนซีนที่เริ่มอ่อนตัวลง อย่างไรก็ตามบริษัทก็มีแผนที่จะปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตนำเบนซีน ซึ่งมีมาร์จิ้นไม่ดีมาผลิตเป็นน้ำมันเบนซินทดแทนได้

โดยปีที่ผ่านมาบริษัทมีสัดส่วนกำไรจากธุรกิจโรงกลั่น 71% ส่วนที่เหลือเป็นกำไรจากธุรกิจอื่น ๆ เช่น ธุรกิจอะโรเมติกส์ 11% ,ธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน 7% ,ธุรกิจไฟฟ้า 9% ซึ่งในระยะยาววางเป้าหมายจะมีกำไรจากธุรกิจอื่น ๆ เพิ่มเป็นระดับ 40-50%

นายอธิคม กล่าวยืนยันว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายจะปรับสูตรการคำนวณราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันและค่าการตลาดน้ำมันนั้น จะไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อบริษัท เพราะการซื้อขายน้ำมันหน้าโรงกลั่นของบริษัทเป็นการขายตามสภาพตลาดจริง เป็นไปตามกลไกเสรี ขณะที่การปรับสูตรของภาครัฐเป็นการปรับโครงสร้างราคาอ้างอิงที่ใช้ประกอบในการคำนวณเรื่องภาษี เงินกองทุน ค่าการตลาดน้ำมัน เพื่อให้เป็นราคาน้ำมันขายปลีกสุดท้าย

สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ได้แก่ โครงการขยายท่าเรือ ซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้า 30% สามารถรองรับเรือขนส่งผลิตภัณฑ์ที่มีขนาดสูงสุดได้ถึง 50,000 ตันจากเดิมที่ 3,500 ตัน ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 62, โครงการก่อสร้างถังน้ำมันดิบ มีความคืบหน้า 63% ซึ่งจะสามารถสำรองน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 250 ล้านลิตร ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 62 ,โครงการก่อสร้างอาคารกลุ่มโรงกลั่นศรีราชา มีความคืบหน้า 36% ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 62, โครงการขยายขีดความสามารถในการจ่ายน้ำมันอากาศยาน จะแล้วเสร็จในไตรมาส 2/61 เป็นต้น

ส่วนโครงการ CFP อยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการ สำหรับโครงการนี้ซึ่งเป็นการขยายกำลังการกลั่นน้ำมัน แม้ในช่วงที่ผ่านมาโรงกลั่นน้ำมันจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ในเรื่องการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แต่โครงการดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่ใน จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และมีส่วนหนึ่งจากการผลิตที่จะใช้สำหรับเป็นสารตั้งต้นในการผลิตของโครงการปิโตรเคมีระยะที่ 4 ของประเทศ ก็ทำให้มีโอกาสที่จะได้รับสิทธิประโยชน์การลงทุนจากบีโอไอ ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการจะเสนอแพ็กเกจเพิ่มเติมเพื่อเจรจากับภาครัฐต่อไป

ด้านนายบัณฑิต ธรรมประจำจิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุธโส ด้านการกลั่นและปิโตรเคมี ของ TOP เปิดเผยว่า ความคืบหน้าของโครงการ CFP นั้นปัจจุบันได้ออกประกาศเชิญชวนให้ผู้รับเหมาเข้ามายื่นประมูลเพื่อดำเนินโครงการแล้ว ซึ่งมีผู้มายื่น 2 กลุ่ม (Consortium) จากยุโรป และเอเชีย ซึ่งคาดว่าจะสามารถตัดสินใจคัดเลือกได้ภายในกลางปีนี้ ขณะที่การขยายกำลังการกลั่นน้ำมันในระดับดังกล่าวตามตลาดคาดว่าจะมีมูลค่าลงทุนอยู่ที่ราว 3.4-4 พันล้านเหรียญสหรัฐ แม้ว่าตลาดในช่วงนี้จะเป็นของกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างก็ตาม แต่เชื่อว่าระดับราคาในตลาดยังไม่สูงมากนัก หลังจากสรุปผู้รับเหมาได้แล้วก็จะมีการนำเสนอคณะกรรมการเพื่อตัดสินใจการลงทุนในขั้นสุดท้ายอีกครั้งในช่วงไตรมาส 3/61

นางสาวภัทรลดา สง่าแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านการเงินและบัญชี ของ TOP กล่าวว่า สำหรับในช่วงไตรมาส 1/61 คาดว่าจะมีกำไรจากสต็อกน้ำมันเล็กน้อย หลังราคาน้ำมันดิบ ดูไบ ปิดสิ้นไตรมาส 1/61 ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยของเดือนมี.ค.นั้น อยู่ที่ระดับ 62.7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล สูงกว่าราคาเฉลี่ยของเดือนธ.ค.60 ซึ่งใช้เป็นราคาปิดสิ้นปี 60 อยู่ที่ 61.6 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล


แท็ก ไทยออยล์   (TOP)  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ