IRPC ดันโครงการขยายกำลังผลิตโอเลฟินส์หลังศึกษาพบใช้เงินลงทุนต่ำลงคาดตัดสินใจ Q2/61

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 12, 2018 15:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยว่า การขยายกำลังการผลิตโรงงานโอเลฟินส์เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตอีกราว 50% คาดว่าจะตัดสินใจได้ในช่วงไตรมาส 2/61 หลังจากผลการศึกษาล่าสุดคาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 350 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้มีแนวโน้มที่จะสามารถลงทุนและสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ โดยหากตัดสินใจลงทุนคาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการราว 3 ปีครึ่ง ซึ่งจะแล้วเสร็จในช่วงที่บริษัทจะหยุดซ่อมบำรุงใหญ่โรงงานอีกครั้งในช่วงปี 64 หลังจากที่ได้หยุดซ่อมบำรุงใหญ่ครั้งล่าสุดเมื่อปีก่อน

"ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดการขยายกำลังการผลิต Ethylene Plant อีก 50% ดูแล้วมีแนวโน้มว่าจะเป็นไปได้ ตอนนี้ต้นทุนลดลง ตอนศึกษาครั้งแรกมูลค่าโครงการอยู่ที่กว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐแล้วขึ้นไปกว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐ ตอนนี้ดูตัวเลขใหม่น่าจะประมาณ 350 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถ้าอย่างนี้ return พอไปได้ กำลังศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม น่าจะตัดสินใจได้ประมาณ ไตรมาส 2/61 ตัดสินใจคือเตรียม design package ถ้าโครงการนี้ทุกอย่างเป็นไปตามแผนไตรมาส 2/61 น่าจะเสนอบอร์ดพิจารณาอนุมัติเพื่อทำ FEED ต่อไป"นายสุกฤตย์ กล่าว

นายสุกฤตย์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นการขยายกำลังการผลิตโอเลฟินส์อีก 2.5 แสนตัน/ปี จากปัจจุบันราว 5 แสนตัน/ปี และได้โพรพิลีนเป็นผลพลอยได้ (By Product)

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ IRPC วางเป้าหมายการขยายกำลังการผลิตโรงงานโอเลฟินส์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ BEYOND EVEREST มูลค่า 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อนำผลิตภัณฑ์จากโรงกลั่นน้ำมันมาต่อยอดผลิตสารโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์ ซึ่งแบ่งการลงทุนเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการขยายกำลังการผลิตโอเลฟินส์ ทั้งเอทิลีน และโพรพิลีน เพิ่มขึ้นอีก 50% และส่วนที่สองเป็นการนำ gasoline components ที่ปัจจุบันมีการส่งออกนั้นมาผลิตเป็นสารอะโรเมติกส์

แต่ผลการศึกษาในส่วนแรกพบว่ามีการลงทุนสูงจนไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ทำให้ IRPC เลือกจะผลิตสารอะโรเมติกส์ก่อน พร้อมเปลี่ยนชื่อมาอยู่ภายใต้โครงการ MARS ซึ่งจะเป็นการลงทุน 1-1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสร้างโรงงานอะโรเมติกส์ ขนาด 1.3 ล้านตัน/ปี แบ่งเป็น พาราไซลีน 1 ล้านตัน/ปี และเบนซีน 3 แสนตัน/ปี โดยปัจจุบันได้รับการอนุมัติเรื่องการออกแบบด้านวิศวกรรมโครงการ (Front End Engineering Design Process :FEED) แล้ว ซึ่งคาดว่าจะเริ่มผลิตในไตรมาส 4/65 จะสร้างอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนราว 13-15%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ