(เพิ่มเติม) ผถห.PTT อนุมัติแตกพาร์คาดเริ่มเทรดต้น พ.ค.-เดินหน้าส่ง PTTOR เข้าตลาดหุ้นปี 62 ผุดโรงแรมในปั๊ม 5 แห่งปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 12, 2018 18:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2561 ของ บมจ.ปตท.(PTT) ในวันนี้อนุมัติการแตกพาร์เหลือหุ้นละ 1 บาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง โดยคาดว่าจะเริ่มเทรดพาร์ใหม่ได้ในช่วงต้นเดือน พ.ค.พร้อมรับทราบความคืบหน้าการนำหุ้นบมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (PTTOR) เข้าตลาดหุ้น ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่า ปตท.จะสามารถโอนทรัพย์สินให้กับ PTTOR ภายในไตรมาส 3/61 ขณะที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการหาที่ปรึกษาทางการเงินเตรียมความพร้อมยื่นไฟลิ่ง และยังตั้งเป้านำ PTTOR เข้าตลาดหุ้นได้ในปี 62

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) กล่าวว่า ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2561 อนุมัติการเปลี่ยนแปลงมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) เป็นหุ้นละ 1 บาท จากเดิมหุ้นละ 10 บาท ด้วยคะแนนเสียง 2,344,776,112 เสียง หรือคิดเป็น 99.9521% ซึ่งไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

นายเทวินทร์ กล่าวว่า การแตกพาร์ของหึ้น PTT จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องจากที่นักลงทุนสามารถเข้าถึงหุ้นบริษัทได้มากขึ้นจากราคาหุ้นที่ลดลง คาดว่าการซื้อขายพาร์ใหม่จะเริ่มได้ในต้นเดือน พ.ค.นี้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงพาร์ดังกล่าวจะไม่ทำให้ทุนจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด รวมถึงไม่มีผลกระทบต่อมูลค่าที่แท้จริงของหุ้น PTT และไม่ส่งผลกระทบในทางลบ ( Dilution Effect) ต่อผู้ถือหุ้น

ทั้งนี้ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงพาร์ครั้งนี้ ปตท.ยังคงมีทุนจดทะเบียนจำนวน 2.86 หมื่นล้านบาท คิดเป็นจำนวนหุ้น 2.86 หมื่นล้านหุ้น ที่พาร์หุ้นละ 1 บาท

นายเทวินทร์ เปิดเผยอีกว่า แผนงานของกลุ่ม ปตท.ในปีนี้จะมีการก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 5 ,คลังก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แห่งที่ 2 ,การขยายธุรกิจไปยังภูมิภาค โดยเฉพาะการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ที่จะเน้นไปยังพื้นที่ที่มีความชำนาญ , ธุรกิจน้ำมันจะขยายสถานีบริการน้ำมัน และร้านคาเฟ่ อเมซอน ไปยังภูมิภาคมากขึ้น

พร้อมกันนี้ ก็ยังมองหาธุรกิจใหม่ ๆ ในห่วงโซ่ธุรกิจไฟฟ้า (Electricity Value Chain) รองรับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค ทั้งในเรื่องการผลิตไฟฟ้า ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) สถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV) หรือ EV Charger ตลอดจนยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งก็ได้ตั้งทีมศึกษาเพื่อเตรียมการและกำหนดลงทุนใหม่ให้ชัดเจน คาดว่าภายในระยะเวลาไม่นานคงจะสามารถประกาศการลงทุนจากธุรกิจใหม่ได้

นอกจากนี้ ปตท.ยังมองหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจสายไบโอเบส ในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ส่วนความคืบหน้าการขายสินทรัพย์ธุรกิจปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซีย ปัจจุบันได้ขายไปแล้ว 4 โครงการ จากทั้งหมด 5 โครงการ ทำให้ปัจจุบันยังเหลืออีก 1 โครงการ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จใน 1-2 ปี โดยการขายสินทรัพย์ดังกล่าวเป็นการดำเนินงานตามแผนงานหลังจากได้ตัดสินใจที่จะยกเลิกการลงทุนตั้งแต่ช่วง 3-4 ปีที่แล้ว

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย PTT เปิดเผยว่า ปตท.เดินหน้าที่จะขยายการลงทุนธุรกิจน้ำมันในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งภายหลังการแยกธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกมาอยู่ใน PTTOR ก็จะทำให้มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยปัจจุบันดำเนินงานใน 4 ประเทศ มีสถานีบริการน้ำมันรวม 216 แห่ง ร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน 120 แห่ง และร้านจิฟฟี่ 50 แห่ง สามารถสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของธุรกิจน้ำมันราว 6-7% ในปัจจุบัน ซึ่งปตท.ตั้งเป้าจะขยายเป็น 10% ของ EBITDA ธุรกิจน้ำมันในอนาคต

สำหรับความคืบหน้าการนำ PTTOR เข้าตลาดหุ้นนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการคัดเลือกทึ่ปรึกษาทางการเงิน โดยตามกระบวนการนั้นปัจจุบัน PTTOR แปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนแล้ว และคาดว่าจะสามารถโอนทรัพย์สินจาก ปตท.มาให้ PTTOR ภายในไตรมาส 3/61 ซึ่งก็จะสามารถระบุถึงมูลค่าสินทรัพย์ที่จะถ่ายโอน และการเริ่มใช้รูปแบบโลโก้ใหม่ที่จะใช้เป็นสัญลักษณ์ของ PTTOR ในสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งภายหลังการโอนทรัพย์สินแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการยื่นแบบเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยวางเป้าหมายจะกระจายหุ้น IPO และนำเข้าตลาดหุ้นในปี 62

ปตท.และหน่วยงานของภาครัฐจะถือหุ้นใน PTTOR ต่ำกว่า 50% โดยปตท.จะถือหุ้นไม่น้อยกว่า 45% ทั้งนี้ จะจำกัดสิทธิการถือหุ้นของต่างชาติไม่เกิน 25% และแต่ละรายจะถือหุ้นไม่เกิน 3% ส่วนการเสนอขายหุ้น IPO ของ PTTOR ให้กับผู้ถือหุ้นของปตท.ไม่เกิน 5% ของ IPO โดยยืนยันว่าจะกระจายหุ้น PTTOR ให้กับประชาชนคนไทยมากที่สุด

นายอรรถพล กล่าวถึงความคืบหน้าการหาพันธมิตรร่วมทุนโรงแรมราคาประหยัดในสถานีบริการน้ำมันว่า จะสามารถสรุปรายชื่อพันธมิตรได้ในไตรมาส 2/61 และน่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปีนี้ โดยมีเป้าหมายที่ ปตท.จะพัฒนาเอง 5 แห่ง ก่อนจะขยายให้ดีลเลอร์ต่อไป

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ ของ PTT กล่าวถึงการดำเนินธุรกิจถ่านหินของ ปตท.ว่า ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจถ่านหินในอินโดนีเซียยังเป็นไปด้วยดีและยังมีกำไร แต่ในอนาคตที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับภาวะโลกร้อนก็จะมีผลต่อธุรกิจถ่านหินทั่วโลกในระยะยาว

ส่วนปตท.จะขยายการลงทุนธุรกิจถ่านหินเพิ่มเติมหรือไม่นั้น โดยส่วนตัวเห็นว่าปตท.ไม่ควรขยายธุรกิจถ่านหินเพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน แต่หากสามารถขายได้ราคาดีก็ควรจะพิจารณาด้วยเพราะในระยะยาวเห็นว่าพลังงานหมุนเวียนจะเป็นเชื้อเพลิงหลักมากกว่าเชื้อเพลิงจากฟอสซิลที่นับวันจะหมดลง

แต่ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านนั้นยังเห็นว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล ประเภทก๊าซธรรมชาติยังมีความเหมาะสมทั้งในด้านของต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งนโยบายของปตท.ก็ยังเน้นก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิง ทำให้ปตท.มุ่งเน้นผลักดันการทำธุรกิจก๊าซฯครบวงจร และพยายามโน้มน้าวให้รัฐบาลควรสนับสนุนการใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิง เพราะมีความเหมาะสมมากที่สุดสำหรับประเทศไทย

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ของ PTT และว่าที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ เปิดเผยถึงวิสัยทัศน์การทำงานของปตท.ต่อไปในอนาคตต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นว่า จะดำเนินการต่อยอดแผนกลยุทธ์ของ ปตท. ตามโครงการ PTT 3D คือ Do now เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โดยการเพิ่มผลผลิต (Productivity Improvement)

Decide now เร่งตัดสินใจการลงทุนเพื่อการเติบโต โดยมุ่งเน้นความชำนาญในธุรกิจปัจจุบัน และต่อยอดธุรกิจเดิม โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจโรงกลั่นก็จะเน้นไปในส่วนผลิตเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมากกว่าการกลั่นเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันที่อาจจะมีความต้องการใช้ลดลงเมื่อยานยนต์ไฟฟ้าเข้ามามากขึ้น ขณะที่ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมียังมีความต้องการมากขึ้นและต่อเนื่องในอนาคต

Design now ลงทุนใน New S-Curve เพื่อการเติบโตในระยะยาว ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของโลกตามทิศทางเทคโนโลยีใหม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ